คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4202/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนและเป็นผู้เข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างถนนกาญจนาภิเษกจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างและเป็นเจ้าของโครงการ วันเกิดเหตุ อ. ขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปตามถนนกาญจนาภิเษกบริเวณซึ่งเป็นที่เกิดเหตุ โดยทางเดินรถช่องขวาสุดกำลังก่อสร้างทางมีลักษณะเป็นทางต่างระดับกับทางปกติ และมีวัสดุอุปกรณ์วางเกะกะอยู่ โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้ติดตั้งสัญญาณและไฟส่องสว่าง เพื่อเตือนให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะทราบ เป็นเหตุให้ อ. ขับรถเฉี่ยวชนวัสดุก่อสร้างจนรถยนต์ได้รับความเสียหาย คำฟ้องโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาโดยละเอียดแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว แม้ตามสำเนารายงานประจำวันเอกสารท้ายฟ้องจะระบุว่าขณะเกิดเหตุ อ. ขับรถมาในช่องทางเดินรถซ้ายสุดแตกต่างจากที่ระบุในฟ้อง แต่คำฟ้องโจทก์อยู่ในวิสัยที่จำเลยทั้งสองสามารถเข้าใจได้ว่า รถยนต์คันเกิดเหตุชนกับวัสดุก่อสร้างในช่องเดินรถด้านขวาซึ่งเป็นทางต่างระดับ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
การที่จำเลยที่ 1 ไม่ติดตั้งเครื่องหมายหรือสัญญาและไฟส่องสว่าง เพื่อให้ผู้ขับขี่รถยนต์ในเวลากลางคืนมีโอกาสเห็นถนนที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ เป็นเหตุให้ อ. ขับรถชนแท่งเหล็กที่จำเลยที่ 1 วางไว้ จนได้รับความเสียหาย และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างและเป็นเจ้าของโครงการซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลจำเลยที่ 1 ในการก่อสร้าง แต่ละเลยไม่ควบคุมดูแล ถือเป็นความประมาทของจำเลยที่ 2 ร่วมด้วย แม้ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างจะกำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดชอบในการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ ก็เป็นเรื่องตกลงกันภายในระหว่างจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดดังกล่าวด้วย
ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2541 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ชำระหนี้ครั้งสุดท้าย เพราะโจทก์ไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 บัญญัติว่า หนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด ดังนั้น โจทก์ในฐานะผู้เข้ารับช่วงสิทธิจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าซ่อมรถครั้งสุดท้ายได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 386,924 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 373,124 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 373,124 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 กันยายน 2541) ไม่เกิน 13,800 บาท ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 7,000 บาท
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะให้โจทก์ฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า วันเกิดเหตุนางสาวอุไรวรรณขับรถยนต์คันเกิดเหตุไปตามถนนกาญจนาภิเษกมุ่งหน้าไปทางแยกฉิมพลี เมื่อถึงที่เกิดเหตุบริเวณหมู่บ้านพาวิลเพลสทางเดินรถช่องขวาสุดกำลังก่อสร้างทางเป็นลักษณะทางต่างระดับกับถนนปกติและมีวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างวางเกะกะอยู่เรียงราย โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้ติดตั้งสัญญาณและไฟส่องสว่างเพื่อแจ้งเตือนให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะทราบ เป็นเหตุให้นางสาวอุไรวรรณขับรถเฉี่ยวชนกับวัสดุก่อสร้างและรถยนต์ได้รับความเสียหาย คำฟ้องของโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาละเอียดแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว แม้ตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานระบุว่า ขณะเกิดเหตุนางสาวอุไรวรรณขับรถมาในช่องเดินรถซ้ายสุดแตกต่างจากที่ระบุในฟ้อง แต่คำฟ้องของโจทก์อยู่ในวิสัยที่จำเลยทั้งสองสามารถเข้าใจได้ว่ารถยนต์คันเกิดเหตุเฉี่ยวชนกับวัสดุก่อสร้างในช่องเดินรถด้านขวาซึ่งเป็นทางต่างระดับ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ติดตั้งอุปกรณ์ส่องสว่าง เครื่องหมาย หรือสัญญาณเพื่อให้ผู้ขับขี่รถในเวลากลางคืนมีโอกาสมองเห็นถนนที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ เป็นเหตุให้นางสาวอุไรวรรณขับรถชนแท่งเหล็กที่จำเลยที่ 1 วางไว้ ทำให้รถยนต์ดังกล่าวได้รับความเสียหาย สำหรับจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ควบคุมดูแลจำเลยที่ 1 ในการจัดให้มีสัญญาณเตือนภัยและควบคุมการก่อสร้าง แต่ละเลยไม่ควบคุมให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย จึงเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ด้วย และแม้สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดชอบในการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องภายในระหว่างจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในผลแห่งละเมิดดังกล่าว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2541 เพราะโจทก์ไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบ นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 บัญญัติว่า หนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันที่โจทก์ชำระเงินค่าซ่อมรถครั้งสุดท้ายไปเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2541 ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share