คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2757/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ขอให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แก้ไขและเพิ่มเติมคำให้การ และไม่อนุญาตให้ส่งสำนวนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น หากศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้ว ย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นกล่าวคือคำพิพากษาศาลชั้นต้นต้องถูกยกเลิกเพิกถอนไปในตัว จึงเท่ากับเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นนั่นเอง ในการอุทธรณ์จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ และชอบที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เสีย คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินตามสัญญาสินเชื่อขายลดตั๋วเงินที่จำเลยที่ 1 ทำกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พารา จำกัด (มหาชน) มีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาโจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พารา จำกัด (มหาชน) ตามสัญญาซื้อสินทรัพย์สินเชื่อธุรกิจซึ่งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เป็นผู้ดำเนินการขายตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ยื่นคำให้การ ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การในระหว่างสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขออนุญาตแก้ไขคำให้การและคำร้องขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลชั้นต้นยกคำร้องและพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 10,650,829.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 40,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์จำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ขอให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แก้ไขและเพิ่มเติมคำให้การ และไม่อนุญาตให้ส่งสำนวนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น หากศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้ว คำพิพากษาดังกล่าวของศาลอุทธรณ์ย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้น กล่าวคือ คำพิพากษาศาลชั้นต้นต้องถูกยกเลิกเพิกถอนไปในตัว จึงเท่ากับเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นนั่นเอง ซึ่งในการอุทธราณ์จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ และชอบที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เสีย คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share