คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 704/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 จะมิได้บังคับว่าผู้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สิน แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับ มาตรา 55 คือผู้ยื่นคำร้องจะต้องแสดงว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของตนตามกฎหมายแพ่ง
ทรัพย์ที่ยึดไม่ได้เป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องเพียงแต่มีสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายอันเป็นบุคคลสิทธิระหว่างกับเจ้าของทรัพย์ที่ถูกยึด ยังไม่มีสิทธิในทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานยึดไว้ ยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สินนั้น ไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์นั้นได้
บันทึกมีข้อความว่า ป. ตกลงให้ผู้ร้องกับพวกซื้อทรัพย์สินที่ขายฝากคืน โดยชำระเงินแล้วส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือจะนำมาชำระภายใน 15 วัน แล้ว ป. จะคืน น.ส. 3 สำหรับที่ดินพร้อมทั้งหนังสือมอบอำนาจให้ผู้ร้องกับพวกไปทำการจดทะเบียนทางอำเภอต่อไป ข้อความดังกล่าวยังมีการที่ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องปฏิบัติกันอีกอันจะให้สำเร็จผลเป็นการซื้อขายบันทึกดังกล่าวจึงเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขาย ไม่ใช่สัญญาซื้อขาย จะถือว่าขณะทำบันทึกผู้ขายสละสิทธิครอบครองให้ผู้ซื้อแล้วหาได้ไม่ ผู้ร้องยังไม่ได้สิทธิครอบครอง

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ทรัพย์ที่โจทก์นำยึดคือที่ดิน ๑ แปลง บ้าน ๑ หลัง มิใช่ทรัพย์ของจำเลยแต่เป็นของผู้ร้อง เดิมทรัพย์ดังกล่าวเป็นของจำเลย จำเลยนำไปขายฝากให้นายประดิษฐ์แล้วไม่ซื้อคืนในกำหนด ทรัพย์จึงตกเป็นของนายประดิษฐ์ นายประดิษฐ์ได้ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ คดีอยู่ระหว่างพิจารณา นายประดิษฐ์ได้นำทรัพย์ที่ถูกยึดมาขายให้ผู้ร้องในราคา ๓๐,๐๐๐ บาท แล้วถอนคำร้องขัดทรัพย์ ผู้ร้องได้ซื้อไว้โดยทำบันทึกการซื้อขาย ปรากฏตามสำเนาบันทึกท้ายคำร้อง เมื่อนายประดิษฐ์ขายให้แก่ผู้ร้องแล้วได้ทำหนังสือมอบอำนาจการโอนให้นายปานไปโอนแก่ผู้ร้องปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจท้ายคำร้อง ผู้ร้องกับนายปานได้ไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อนายทะเบียนอำเภอจตุรัส แต่ประกาศโฆษณาไม่ครบเดือน พอดีทรัพย์ทั้งสองรายนี้ถูกประกาศขายทอดตลาดเสียก่อน จึงยังมิได้รับโอน ผู้ร้องมีสิทธิในทรัพย์รายนี้ ผู้ร้องได้ไปติดต่อกับนายประดิษฐ์ให้มาเป็นผู้ร้องขัดทรัพย์ร่วม นายประดิษฐ์ไม่ยอมมา เมื่อทรัพย์ที่ถูกยึดหลุดจากจำเลยแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธินำยึดเพื่อขายทอดตลาดได้ ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ถูกยึด
ศาลชั้นต้นสั่งว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขัดทรัพย์ ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ผู้ร้องฎีกาว่าตามสำเนา น.ส. ๓ ท้ายคำร้องปรากฏว่าทรัพย์ที่ถูกยึดเป็นของนายประดิษฐ์ มิใช่ของจำเลยเมื่อเป็นเช่นนั้นศาลชั้นต้นควรทำการไต่สวนแล้วมีคำสั่งปล่อยทรัพย์ไป ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๘๘ จะมิได้บังคับว่าผู้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สิน แต่มาตรา ๒๘๘ นี้อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา ๕๕ ฉะนั้น ผู้ยื่นคำร้องจะต้องแสดงว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของตนตามกฎหมายแพ่ง เมื่อตามคำร้องขอแสดงว่านายประดิษฐ์เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานยึดไว้ ผู้ร้องเพียงแต่มีสิทธิตามสัญญาจะซื้อขายอันเป็นบุคคลสิทธิระหว่างผู้ร้องกับนายประดิษฐ์ ยังไม่มีสิทธิในทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ ยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สินนั้น ไม่มีสิทธิร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินนั้นได้
ข้อต่อมาผู้ร้องฎีกาว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า เพียงแต่นายประดิษฐ์เจ้าของที่ดินสละสิทธิครอบครองให้ผู้ร้องเข้าครอบครอง ผู้ร้องก็ได้สิทธิครอบครองมีสิทธิร้องขัดทรัพย์ได้ ศาลฎีกาเห็นว่าสำเนาบันทึกไถ่ถอนการขายฝากที่ดินท้ายคำร้องมีข้อความว่า นายประดิษฐ์ตกลงให้ผู้ร้องกับพวกซื้อทรัพย์สินที่ขายฝากคืนในราคา ๓๐,๐๐๐ บาท ได้รับเงินไปแล้ว ๒๙,๐๐๐ บาท ฝ่ายผู้ซื้อจะนำเงินที่เหลือจำนวน ๑,๐๐๐ บาท ชำระแก่นายประดิษฐ์ภายในกำหนด ๑๕ วัน แล้วนายประดิษฐ์จะคืน น.ส. ๓ สำหรับที่ดินพร้อมหนังสือมอบอำนาจให้ผู้ร้องกับพวกไปทำการจดทะเบียนโอนสิทธิทางอำเภอต่อไป ข้อความดังกล่าวแสดงว่าผู้ซื้อและผู้ขายยังมิได้ตกลงโอนสิทธิในทรัพย์สินที่ซื้อขายกันทันที ยังมีการที่ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องปฏิบัติต่อกันอีกอันจะให้สำเร็๗ผลเป็นการซื้อขาย บันทึกดังกล่าวจึงเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขาย ไม่ใช่สัญญาซื้อขายจะถือว่าขณะทำบันทึกนั้นผู้ขายสละสิทธิครอบครองให้ผู้ซื้อแล้วหาได้ไม่ ผู้ร้องยังไม่ได้สิทธิครอบครอง
พิพากษายืน

Share