คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12752/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กิจการโรงเรียน ป. นั้น เป็นเพียงการงานอาชีพของผู้ตายและผู้ร้องที่ร่วมประกอบกิจการเท่านั้น อันเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้และไม่ตกทอดเป็นมรดกอันจะต้องมาแบ่งปันกัน ส่วนอาคารของโรงเรียนซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินตามเอกสารหมาย ร.6 หรือ ค.4 ผู้ร้องในฐานะทายาทโดยธรรมก็รับโอนมาแล้ว การที่ผู้ร้องนัดประชุมเพื่อตั้งมูลนิธิหรือจดทะเบียนโรงเรียนเป็นนิติบุคคลตามที่ผู้ตายเคยสั่งเสียด้วยวาจาก่อนตายก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการทำพินัยกรรมแบบทำด้วยวาจาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1663 เนื่องจากไม่มีพฤติการณ์พิเศษอันเป็นเงื่อนไขของบทกฎหมายดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้น เมื่อคู่คัดค้านมายื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องหลังการปันมรดกเสร็จสิ้นแล้ว จึงต้องห้ามตามมาตรา 1727

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางละออง ผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกของนายอนันต์ กับให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทน
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอของผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำร้องขอของผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า ผู้ร้องและนายอนันต์เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 7 คน คือ ผู้คัดค้าน นายปัญญา นายชาตรี นางสาวศรีสมร นายพิษณุ นางสาวกิรณา และนายฉัตรขวัญ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2550 ผู้ตายถึงแก่ความตาย ขณะผู้ตายถึงแก่ความตายมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนด 3 แปลง ตามสำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 6064 สำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 214920 และสำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 244900 นอกจากนี้ผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือบ้านพักอาศัย ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 244900 กับอาคารโรงเรียนซึ่งปลูกอยู่บนที่ดิน โฉนดที่ดินเลขที่ 6064 วันที่ 16 กรกฎาคม 2550 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย โดยผู้คัดค้านและพี่น้องซึ่งเป็นบุตรของผู้ร้องและผู้ตาย ยกเว้นนางสาวกิรณาได้ทำหนังสือยินยอมให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก วันที่ 15 สิงหาคม 2550 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย วันที่ 13 ตุลาคม 2552 ผู้ร้องโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 214920 ให้แก่นายพิษณุและนายฉัตรขวัญ วันที่ 10 มีนาคม 2553 ผู้ร้องโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 244900 ให้แก่ตนเอง นางสาวศรีสมรและนายพิษณุ และในวันเดียวกันนั้น ผู้ร้องโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 6064 ให้แก่ตนเอง วันที่ 28 กรกฎาคม 2553 นางสาวกิรณาเป็นโจทก์ฟ้องผู้ร้อง นายพิษณุ นายฉัตรขวัญ นางสาวศรีสมร นางวัลภา และกรมที่ดิน รวม 6 คนเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น ขอให้ใส่ชื่อนางสาวกิรณาถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องนางวัลภา ต่อมาวันที่ 11 กรกฎาคม 2555 นางสาวกิรณาถอนฟ้องกรมที่ดินซึ่งเป็นจำเลยที่ 6 และในวันเดียวกันนางกิรณาได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้ร้อง นายพิษณุ นายฉัตรชัย และนางสาวศรีสมรซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตามลำดับ ศาลชั้นต้นพิพากษายอมตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 985/2553 หมายเลขแดงที่ 900/2555 ซึ่งผูกรวมสำนวนคดีนี้
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า การจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายอนันต์ ผู้ตาย มีทรัพย์มรดกคือที่ดิน 3 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน 2 แปลง ปรากฏว่าผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 214920 ไม่มีสิ่งปลูกสร้างให้แก่ทายาทผู้ตายคือนายพิษณุและนายฉัตรขวัญไปเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2552 โอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 244900 พร้อมบ้านพักอาศัยครึ่งตึกครึ่งไม้ให้แก่ทายาทคือผู้ร้อง นายพิษณุและนางสาวศรีสมร เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2553 และโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 6064 พร้อมอาคารโรงเรียนครึ่งตึกครึ่งไม้สองชั้นจำนวน 4 ห้อง และอาคารโรงเรียนเอกชนไม้ชั้นเดียวจำนวน 6 ห้อง ให้แก่ทายาทคือผู้ร้องเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2553 นอกจากนี้ผู้ตายไม่มีทรัพย์มรดกอื่นใดอีก ดังนี้ถือว่าผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการมรดกเสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2553 ส่วนกิจการโรงเรียนปัญจนวิทย์นั้น เป็นเพียงการงานอาชีพผู้ตายและผู้ร้องร่วมประกอบกิจการเท่านั้น อันเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้และไม่ตกทอดเป็นมรดกอันจะต้องมาแบ่งปันกัน และในส่วนอาคารของโรงเรียนซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 6064 ผู้ร้องในฐานะทายาทโดยธรรมก็รับโอนมาแล้ว การที่ผู้ร้องนัดประชุมเพื่อตั้งมูลนิธิหรือจดทะเบียนโรงเรียนเป็นนิติบุคคลตามที่ผู้ตายเคยสั่งเสียด้วยวาจาก่อนตายก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการทำพินัยกรรมแบบทำด้วยวาจาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1663 เนื่องจากไม่มีพฤติการณ์พิเศษอันเป็นเงื่อนไขของบทกฎหมายดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องจัดการมรดกไม่เสร็จสิ้น อนึ่ง แม้ผู้ร้องจะจัดการมรดกไม่ถูกต้องตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้าง ก็เป็นเรื่องที่ผู้คัดค้านและทายาทอื่นที่ไม่ได้รับมรดกจะไปฟ้องร้องเป็นคดีมีข้อพิพาทโดยตรงต่อไป ไม่มีเหตุที่จะมาร้องขอถอนผู้จัดการมรดกและตั้งผู้จัดการมรดก ส่วนที่นางสาวกิรณาฟ้องผู้ร้องกับพวกก็เป็นการฟ้องผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกให้รับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1720 กับฟ้องขอแบ่งมรดกจากทายาทซึ่งเป็นการฟ้องภายหลังจากที่ผู้ร้องจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้ว หาทำให้กลับกลายเป็นว่าการจัดการมรดกไม่เสร็จสิ้นไม่ การที่ผู้คัดค้านมายื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก และตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 จึงเป็นการยื่นคำร้องขอถอนหลังจากการปันมรดกเสร็จสิ้นแล้ว ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 จึงไม่มีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกตามมาตรา 1713 (1) ถึง (3) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share