คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2886/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้บังคับบัญชามีหนังสือแจ้งให้ลูกจ้างปรับปรุงการทำงานที่บกพร่องถึงสองครั้งหนังสือนั้นมีความด้วยว่า หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะได้รับผลตอบแทนที่เฉียบขาด แสดงว่าลูกจ้างบกพร่องในการทำงาน หนังสือนี้จึงถือได้ว่าเป็นหนังสือเตือนตามระเบียบข้อบังคับการทำงาน ต่อมาผู้บังคับบัญชามีหนังสือเตือนครั้งสุดท้ายโดยให้ถือเป็นการพักงาน แต่เนื่องจากลูกจ้างมีตำแหน่งสำคัญจึงไม่สามารถให้พักงานได้ และว่าถ้าลูกจ้างยังไม่มีการปรับปรุงแก้ไขตนเอง และกระทำความผิดแบบเดียวกันอีก ลูกจ้างจะได้รับการทำโทษถึงขั้นปลดออกจากงานดังนี้เมื่อลูกจ้างกระทำผิดอีก นายจ้างจึงมีเหตุผลที่จะเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นได้
แม้ใบมอบอำนาจให้ดำเนินคดีของบริษัทนายจ้างจะไม่ได้ประทับตราของบริษัทโดยสมบูรณ์ แต่ต่อมาก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งคดีนี้ บริษัทนายจ้างได้ทำใบมอบอำนาจที่สมบูรณ์ถูกต้องขึ้นใหม่ให้ดำเนินคดีและให้สัตยาบันของการที่ได้ทำไปแล้วในคดีนี้ดังนี้ ถ้ามีผู้อ้างว่าเป็นผู้แทนของนิติบุคคล เมื่อศาลเห็นสมควรจะทำการสอบสวนถึงอำนาจของผู้นั้นก็ได้ เป็นอำนาจที่กฎหมายให้ไว้แก่ศาลโดยกว้าง หากศาลเห็นว่าผู้มอบอำนาจไม่มีอำนาจดังที่อ้างหรือ อำนาจบกพร่อง ศาลมีอำนาจยกฟ้องคดีนั้นเสียหรือมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างอื่นได้ตามที่เห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ฉะนั้น เมื่อบริษัทนายจ้างได้มีหนังสือมอบอำนาจใหม่ถูกต้อง ศาลก็มีอำนาจให้แก้ไขข้อบกพร่องได้ตามอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ (อ้างคำพิพากษาฎีกา (ประชุมใหญ่) ที่ 1184/2506)

ย่อยาว

ผู้ร้องร้องว่า ผู้ร้องได้จ้าง ป. ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคนสวน ป. ได้ทำการฝ่าฝืนข้อตกลงสภาพการจ้างหลายประการ ผู้ร้องโดยผู้บังคับบัญชาได้มีหนังสือตักเตือนให้ ป. ปรับปรุงตัวแล้วแต่ ป. ก็ไม่นำพาต่อคำตักเตือน ผู้บังคับบัญชาจึงเสนอให้เลิกจ้าง ป. เป็นกรรมการลูกจ้าง จึงขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้าง ป.โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ป. ได้คัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องคดีนี้เพราะหนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์ ผู้คัดค้านมิเคยประพฤติปฏิบัติฝ่าฝืนข้อตกลงสภาพการจ้างไม่เคยขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งคดีบริษัทผู้ร้องได้มีหนังสือมอบอำนาจโดยตรงให้ผู้รับมอบอำนาจและให้สัตยาบันการที่ทำไปแล้ว การมอบอำนาจให้ร้องคดีนี้จึงสมบูรณ์ และฟังว่าผู้คัดค้านขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาและละทิ้งหน้าที่การงาน โดยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว มีเหตุที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้าง ป. กรรมการลูกจ้างได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๔ มาตรา ๕๒
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ผู้บังคับบัญชาผู้ร้องเคยมีหนังสือแจ้งให้ผู้คัดค้านปรับปรุงการทำงานที่บกพร่อง ๒ ครั้งหนังสือนั้นมีข้อความด้วยว่าหากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะได้รับผลตอบแทนที่เฉียบขาด แสดงว่าผู้คัดค้านบกพร่องในการทำงานหนังสือนี้จึงถือได้ว่าเป็นหนังสือเตือนตามระเบียบข้อบังคับการทำงาน ต่อมาผู้บังคับบัญชามีหนังสือเตือนครั้งสุดท้าย และว่าให้หนังสือฉบับนี้มีผลเท่ากับการพักงานโดยมีข้อความระบุว่าเนื่องจากตำแหน่งของผู้คัดค้านเป็นตำแหน่งของหัวหน้าซึ่งมีความสำคัญและมีความจำเป็นที่ไม่สามารถจะให้พักงานได้เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายต่อหน่วยงาน ดังนั้น ถ้าผู้คัดค้านยังไม่มีการปรับปรุงและแก้ไขตนเอง และยังกระทำความผิดแบบเดียวกันอีก ผู้คัดค้านจะได้รับการทำโทษที่รุนแรงมากกว่านี้จนถึงขั้นปลดออกจากงาน ฉะนั้น ผู้ร้องจึงมีเหตุที่จะเลิกจ้างผู้คัดค้านได้
แม้ใบมอบอำนาจให้ดำเนินคดีของบริษัทนายจ้างจะไม่ได้ประทับตราของบริษัทโดยสมบูรณ์ แต่ต่อมาก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งคดีนี้ บริษัทผู้ร้องก็ได้มีหนังสือมอบอำนาจใหม่ให้ผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีนี้ และให้สัตยาบันแก่การที่ผู้ร้องได้กระทำไปแล้ว เห็นว่าถ้ามีผู้อ้างว่าเป็นผู้แทนของนิติบุคคล เมื่อศาลเห็นสมควรจะทำการสอบสวนถึงอำนาจของผู้นั้นก็ได้ เป็นอำนาจที่กฎหมายให้ไว้แก่ศาลโดยกว้างขวาง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๖๖ หากศาลเห็นว่าผู้นั้นไม่มีอำนาจดังที่อ้าง หรืออำนาจบกพร่อง ศาลมีอำนาจยกฟ้องคดีนั้นเสีย หรือมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างอื่นได้ตามที่เห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ฉะนั้น ในเมื่อบริษัทผู้ร้องได้มีหนังสือมอบอำนาจเสียใหม่ถูกต้อง ศาลก็มีอำนาจให้แก้ไขข้อบกพร่องได้ตามอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ (อ้างคำพิพากษาฎีกาประชุมใหญ่ที่ ๑๑๘๔/๒๕๐๖ บริษัทโรงเลื่อยจักรไทยวัฒนา จำกัดฯโจทก์ นางอภิรัตน์ บริบูรณ์ กับพวก จำเลย)
พิพากษายืน

Share