คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2885/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยซื้อเรือยนต์ซึ่งมีน้ำหนักเกินกว่า 6 ตัน แต่การซื้อขายยังไม่ได้จดทะเบียนการโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กรรมสิทธิ์ในเรือดังกล่าวจึงยังไม่ตกมาเป็นของจำเลย ดังนั้นจำเลยซึ่งเป็นผู้ที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ จึงไม่อาจจะโอนกรรมสิทธิ์มาให้แก่โจทก์ร่วมได้ แม้โจทก์ร่วมจะได้จดทะเบียนการโอนเรือลำนั้นจากจำเลยโดยถูกต้องตามพระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ.2481 แล้วก็ตาม โจทก์ร่วมก็หาได้กรรมสิทธิ์ไม่ เพราะพระราชบัญญัติเรือไทยดังกล่าวไม่ได้บัญญัติไว้เลยว่า ไม่ว่ากรณีใดๆ ผู้ที่ได้จดทะเบียนการโอนเรือตามพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้ว จะต้องได้กรรมสิทธิ์เสมอไป
จำเลยตกลงซื้อเรือชื่อ พ. มาจาก ล. แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์กันโดยชอบด้วยกฎหมาย หลังจากนั้นจำเลยได้ไปจัดการขอทำทะเบียนเรือลำนั้นขึ้นใหม่ทั้งๆ ที่มีทะเบียนโดยชอบอยู่แล้วและเปลี่ยนชื่อเรือเสียใหม่เป็น ช. ด้วย แล้วนำใบทะเบียนเรือฉบับใหม่นั้นไปประกันการกู้ยืมเงิน ป.ต่อมาจำเลยได้จัดการขายเรือดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วมโดยอาศัยใบทะเบียนเรือที่จัดทำขึ้นไว้นั้นเอง พฤติการณ์เช่นนี้แสดงอยู่ว่า ความจริงจำเลยได้มีเจตนาและวางแผนการมาแต่แรกเพื่อที่จะฉ้อโกงผู้อื่น ด้วยการหลอกลวงว่าเรือดังกล่าวชื่อ ช. ซึ่งไม่เป็นความจริงโดยใช้ใบทะเบียนที่ได้ใช้อุบายจัดหามาไว้ประกอบข้ออ้างอันเป็นความเท็จโดยไม่บอกให้โจทก์ร่วมรู้ว่าเรือลำนั้นเป็นของผู้อื่น มิใช่ชื่อเรือ ช. การที่โจทก์ร่วมถูกหลอกลวงหลงเชื่อจ่ายเงินให้แก่จำเลยเป็นค่าเรือไปโดยที่จำเลยไม่สามารถและไม่มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์เรือดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วมจริงๆ เช่นนี้ การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานฉ้อโกง มิใช่ฐานยักยอกเรือ เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษฐานฉ้อโกงมา จึงลงโทษจำเลยฐานนี้ไม่ได้
เมื่อปรากฏว่าโจทก์ร่วมไม่มีกรรมสิทธิ์ในเรือของกลางซึ่งโจทก์ฟ้องว่าจำเลยยักยอกเอาไป ศาลก็พิจารณาสั่งคืนเรือของกลางให้แก่โจทก์ร่วมไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ให้นายชิน วงษ์สวัสดิ์ไปแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนเรือโดยให้นายชินยื่นคำร้องขอจดทะเบียนเรือว่า เรือลำที่จะขอจดทะเบียนเป็นเรือยนต์เมล์ต่อใหม่ยังไม่เคยจดทะเบียนมาก่อน ขอใช้ชื่อเรือว่า”ส.ป.โชคดีเหมือนขวัญ” ความจริงเรือลำนี้เป็นเรือเก่าชื่อ “ส.ป.พาณิชย์ 5” หมายเลขทะเบียน 47860 ซึ่งนายเลี่ยงอู๋ แซ่เหียเป็นเจ้าของ เมื่อได้ใบทะเบียนเรืออันเป็นเอกสารมหาชนและเอกสารราชการแล้ว จำเลยทั้งสองร่วมกันให้จำเลยที่ 1 แจ้งความเท็จต่อร้อยตำรวจโทกมล แสงอร่าม ว่า ใบทะเบียนเรือ ส.ป.โชคดีเหมือนขวัญหายไป แล้วจำเลยไปยื่นคำร้องขอใบแทนใบทะเบียนเรือดังกล่าว ต่อมาจำเลยทั้งสองได้โอนขายเรือยนต์ ส.ป.โชคดีเหมือนขวัญให้แก่นางอาภรณ์ รักพานิช โดยจดทะเบียนและส่งมอบกันตามกฎหมาย และในวันเดียวกันนี้นี่เอง นางอาภรณ์ได้มอบเรือยนต์ดังกล่าวให้จำเลยทั้งสองเช่าไปทำการประมง ครั้นต่อมาจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเบียดบังยักยอกเอาเรือยนต์ ส.ป.โชคดีเหมือนขวัญ ไปเป็นของจำเลยเสียเองขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267, 268, 352, 83 และขอให้คืนเรือยนต์ ส.ป.โชคดีเหมือนขวัญแก่ผู้เสียหาย

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

นางอาภรณ์ รักพานิช ผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วม

ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยทั้งสองใช้ให้นายชินไปแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ เจ้าพนักงานหลงเชื่อจึงออกใบทะเบียนเรือ ส.ป.โชคดีเหมือนขวัญให้ จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267, 83 และจำเลยที่ 1 แจ้งความเท็จต่อร้อยตำรวจโทกมลว่าใบทะเบียนเรือหายกับแจ้งความเท็จต่อพนักงานกรมเจ้าท่าเพื่อขอออกใบแทนทะเบียนเรือที่หาย เป็นความผิดตามมาตรา 137 อีก 2 กระทง ไม่ผิดตามมาตรา 268 (ที่ถูกมาตรา 267) เพราะข้อความในใบแทนไม่ได้เป็นเท็จ ส่วนจำเลยที่ 2 ฟังไม่ได้ว่าร่วมรู้เห็นในการแจ้งความเท็จนี้ด้วยจึงลงโทษในฐานนี้ไม่ได้ สำหรับข้อหาฐานยักยอกนั้น เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกง โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องมา จึงลงโทษฐานฉ้อโกงไม่ได้พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267, 83 (มาตรา 84) กระทงหนึ่ง ให้ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน เฉพาะจำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 137 อีก 2 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 เดือน คำขอของโจทก์ที่ให้คืนเรือยนต์ให้ผู้เสียหายให้ยก เพราะเรือของกลางไม่ใช่ของผู้เสียหาย

โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้องและส่งคืนเรือของกลางให้โจทก์ร่วม จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา

ข้อที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า กรรมสิทธิ์ในเรือของกลางได้ตกเป็นของโจทก์ร่วมแล้ว ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เรือของกลางมีน้ำหนักกว่า 6 ตัน การซื้อขายเรือระหว่างจำเลยทั้งสองกับนายเลี่ยงอู๋ยังไม่ได้จดทะเบียนการโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กรรมสิทธิ์เรือของกลางจึงยังไม่ได้ตกมาเป็นของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในเรือของกลาง จึงไม่อาจจะโอนกรรมสิทธิ์ในเรือของกลางมาให้แก่โจทก์ร่วมได้ แม้โจทก์ร่วมจะได้จดทะเบียนการโอนเรือของกลางถูกต้องตามพระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481 แล้วก็ตาม โจทก์ร่วมก็หาได้กรรมสิทธิ์ในเรือของกลางไม่ เพราะพระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481 ไม่ได้บัญญัติไว้เลยว่า ไม่ว่ากรณีใด ๆ ผู้ที่ได้จดทะเบียนการโอนเรือตามพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้วจะต้องได้กรรมสิทธิ์เสมอไป

ข้อที่โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาว่า แม้โจทก์ร่วมจะไม่ได้กรรมสิทธิ์ในเรือของกลางก็ตาม แต่ถ้าหากจำเลยได้เบียดบังเอาเรือของกลางไปจากการครอบครองของโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยย่อมจะต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองตกลงซื้อเรือของกลางมาจากนายเลี่ยงอู๋ แต่ยังไม่ได้จัดการโอนกรรมสิทธิ์กันโดยชอบด้วยกฎหมาย หลังจากนั้นจำเลยก็ได้ไปจัดการขอทำทะเบียนเรือของกลางขึ้นใหม่ ทั้ง ๆ ที่เรือของกลางมีทะเบียนโดยชอบอยู่แล้วและเปลี่ยนชื่อเรือเสียใหม่ด้วย แล้วนำใบทะเบียนเรือฉบับนั้นไปเป็นประกันการกู้ยืมเงินนางสาวปราณี หลังจากนั้นแล้วได้จัดการขายเรือของกลางให้แก่โจทก์ร่วมโดยอาศัยใบทะเบียนเรือที่จัดทำขึ้นไว้แล้วนั่นเอง พฤติการณ์เช่นนี้แสดงอยู่ว่าความจริงจำเลยได้มีเจตนาและวางแผนการมาแต่แรกเพื่อที่จะฉ้อโกงผู้อื่นด้วยการหลอกลวงว่าเรือของกลางลำนี้ชื่อ ส.ป.โชคดีเหมือนขวัญซึ่งไม่เป็นความจริง โดยใช้ใบทะเบียนที่ได้ใช้อุบายจัดหามาประกอบข้ออ้างอันเป็นความเท็จ โดยไม่ได้บอกให้โจทก์ร่วมรู้ว่าเรือของกลางนั้นเป็นของผู้อื่น ไม่ใช่ชื่อเรือ ส.ป.โชคดีเหมือนขวัญ การที่โจทก์ร่วมถูกหลอกลวงหลงเชื่อจ่ายเงินให้แก่จำเลยเป็นค่าเรือไปโดยจำเลยไม่สามารถและไม่มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์เรือพิพาทให้แก่โจทก์ร่วมจริง ๆ การกระทำของจำเลยเช่นนี้ย่อมเป็นความผิดฐานฉ้อโกง หาใช่เป็นความผิดฐานยักยอกไม่ โจทก์มิได้บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษฐานฉ้อโกงมา ศาลจึงลงโทษจำเลยฐานนี้ไม่ได้

ข้อที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า ศาลควรพิจารณาสั่งคืนเรือของกลางให้แก่โจทก์ร่วมด้วยนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เรือของกลางยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์จากนายเลี่ยงอู๋มาเป็นของจำเลยทั้งสองโดยถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจจะโอนกรรมสิทธิ์เรือของกลางมาให้แก่โจทก์ร่วมได้ เมื่อโจทก์ร่วมไม่มีกรรมสิทธิ์ในเรือของกลางเช่นนี้แล้ว ศาลก็พิจารณาสั่งคืนเรือของกลางให้แก่โจทก์ร่วมไม่ได้

พิพากษายืน

Share