แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ โดยมีข้อตกลงว่า ถ้าเงินในบัญชีของผู้ฝากมีไม่พอจ่ายตามเช็คโดยปกติ ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินโดยสิ้นเชิง แต่เมื่อธนาคารได้ผ่อนผันจ่ายให้ไป ผู้ฝากย่อมเป็นอันยอมรับผูกพันตนที่จะจ่ายเงินส่วนที่เกินคืนให้ธนาคาร เสมือนหนึ่งได้ร้องขอเบิกเงินเกินบัญชีไว้กับธนาคารและธนาคารจะคิดดอกเบี้ยเงินที่เบิกเกินบัญชีเป็นรายวัน แล้วนำดอกเบี้ยนั้นไปหักบัญชีเป็นรายเดือนจึงมีลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดด้วย แต่เมื่อสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่มีกำหนดระยะเวลาคู่สัญญาจึงอาจบอกเลิกสัญญาและให้หักทอนบัญชีกันเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 859
การบอกเลิกสัญญาสามารถกระทำได้โดยแสดงเจตนาแจ้งชัดไปยังคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง หรือมีพฤติการณ์อันถือได้ว่าคู่สัญญามีเจตนาจะเลิกสัญญากันโดยปริยายก็ได้เมื่อปรากฏตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันว่ามีการเดินสะพัดทางบัญชีถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2526 ต่อจากนั้นไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีอีกเลย คงมีแต่รายการที่แสดงถึงดอกเบี้ยเท่านั้นเอง ถือได้ว่า โจทก์เจตนาเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดกับจำเลยโดยปริยายแล้วตั้งแต่วันที่โจทก์หยุดคิดดอกเบี้ยทบต้นคือวันที่ 30 มิถุนายน 2530 แม้โจทก์จะมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2540 ก็ไม่ทำให้สัญญาบัญชีเดินสะพัดที่เลิกกันไปแล้วกลับมีผลบังคับกันต่อไปได้อีก การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2540 เกิน 10 ปี จึงขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2519 จำเลยเปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ สาขาบางจากแล้วเดินสะพัดทางบัญชีเรื่อยมา เมื่อจำเลยเบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์และไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืน โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยทบต้นเรื่อยมาจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2530 โจทก์ทำการหักทอนบัญชีปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีอยู่จำนวน 84,445.66 บาท โจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกเลิกสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแล้วจำเลยเพิกเฉย คิดเป็นดอกเบี้ยไม่ทบต้นอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2530 ถึงวันฟ้องจำนวน 184,799.48 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 269,245.14 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 84,445.66 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์เกินกว่า 10 ปี แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2519 จำเลยได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคารเอเซียทรัสท์ จำกัด สาขาบางจาก ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารสยาม จำกัด และปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทโจทก์ซึ่งประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ และมีหน้าที่ติดตามทวงถามหนี้สินที่มีอยู่ก่อนภายใต้การควบคุมของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีข้อตกลงว่าหากจำเลยสั่งจ่ายเช็คโดยที่เงินในบัญชีมีไม่พอจ่ายตามเช็ค แต่ธนาคารได้จ่ายให้ไป จำเลยต้องจ่ายเงินส่วนที่เกินนั้นเสมือนหนึ่งได้ขอเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารและธนาคารจะคิดดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชีเป็นดอกเบี้ยทบต้น ตามคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.4 ทั้งนี้โดยโจทก์กับจำเลยมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้คืนไว้หลังจากนั้นจำเลยนำเงินเข้าฝากในบัญชีและใช้เช็คสั่งจ่ายเงินหลายครั้งจนเมื่อวันที่ 25กุมภาพันธ์ 2526 จำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวน 43,039.84 บาท ตามรายการบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.6 และจำเลยมิได้ถอนเงินหรือนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากอีกเลย คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เห็นว่า จากการที่จำเลยมีคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.4 นั้น ได้มีข้อตกลงตามข้อ 12 และข้อ 19 รวมอยู่ด้วย ซึ่งจำเลยได้ลงลายมือชื่อรับทราบระเบียบการและตกลงที่จะปฏิบัติ ทั้งยอมเข้าผูกพันตามระเบียบดังกล่าวด้วย โดยข้อตกลงข้อ 12 และข้อ 19 มีใจความสำคัญตามลำดับว่า ถ้าเงินในบัญชีของผู้ฝากมีไม่พอจ่ายตามเช็คโดยปกติธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินโดยสิ้นเชิง แต่เมื่อธนาคารได้ผ่อนผันจ่ายให้ไป ผู้ฝากย่อมเป็นอันยอมรับผูกพันตนที่จะจ่ายเงินส่วนที่เกินคืนให้ธนาคารเสมือนหนึ่งได้ร้องขอเบิกเงินเกินบัญชีไว้กับธนาคาร และธนาคารจะคิดดอกเบี้ยเงินที่เบิกเกินบัญชีเป็นรายวัน (ดอกเบี้ยทบต้น) แล้วนำดอกเบี้ยนั้นไปหักบัญชีเป็นรายเดือน กรณีจึงถือได้ว่าเป็นสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีประเภทบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ทั้งเมื่อจำเลยนำเงินเข้าฝากในบัญชีดังกล่าวแล้วเบิกเงินโดยวิธีใช้เช็คสั่งจ่ายเงินจากบัญชีนั้นหลายครั้งตามรายการในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.6 กรณีจึงมีลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดด้วย แต่เมื่อสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีกำหนดระยะเวลา คู่สัญญาจึงอาจบอกเลิกสัญญาและให้หักทอนบัญชีกันเสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 859 ซึ่งการบอกเลิกสัญญานั้นสามารถกระทำได้โดยแสดงเจตนาแจ้งชัดไปยังคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง หรือมีพฤติการณ์อันถือได้ว่าคู่สัญญามีเจตนาจะเลิกสัญญากันโดยปริยายก็ได้ เมื่อคดีปรากฏตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันอันเป็นบัญชีเดินสะพัดว่ามีการเดินสะพัดทางบัญชีถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2526 ต่อจากนั้นก็ไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีอีกเลย คงมีแต่รายการที่แสดงถึงดอกเบี้ยเท่านั้นเอง ประกอบกับได้ความจากนายวิพนธ์ เอี้ยวประเสริฐ พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่จำนวน 84,445.66 บาท โจทก์คิดดอกเบี้ยอย่างไม่ทบต้นในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2530 ซึ่งเป็นวันที่หักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายเป็นต้นมา ดังนี้ การที่ไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อมาและโจทก์หยุดคิดดอกเบี้ยทบต้น ซึ่งการคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นประเพณีในทางการค้าของธนาคาร และเป็นข้อสาระสำคัญข้อหนึ่งในการที่โจทก์ยอมให้จำเลยเบิกเงินเกินบัญชีโดยสัญญาบัญชีเดินสะพัด พฤติการณ์ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงถือได้ว่าโจทก์เจตนาเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดกับจำเลยโดยปริยายแล้ว ตั้งแต่วันที่โจทก์หยุดคิดดอกเบี้ยทบต้นคือวันที่ 30 มิถุนายน 2530 แม้โจทก์จะมีหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน2540 ก็ไม่ทำให้สัญญาบัญชีเดินสะพัดที่เลิกกันไปแล้วกลับมีผลบังคับกันต่อไปได้อีก ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2530 ฉะนั้นการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2540 จึงเกิน 10 ปีฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ”
พิพากษายืน