คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2970/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ลูกจ้าง คือผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้างโดยอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของนายจ้าง หมายความว่า ลูกจ้างต้องทำงานตามที่นายจ้างสั่งและต้องปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง หากลูกจ้างฝ่าฝืนนายจ้างสามารถลงโทษได้ ดังนั้นเมื่อการทำงานของโจทก์ไม่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของจำเลย หรือต้องปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แสดงว่าการทำงานของโจทก์ไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจำเลย โจทก์จึงมิได้เป็นลูกจ้างของจำเลย ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างและค่าชดเชยจากจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2546 จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างให้ทำหน้าที่ทั่วไป ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 200 บาท โดยไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์และไม่ได้กำหนดวันจ่ายค่าจ้าง แต่จำเลยแจ้งว่าจะจ่ายให้เมื่อทำงานครบ 100,000 บาท ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2546 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาเกิน 120 วัน จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน เป็นเงิน 6,000 บาท แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายและในระหว่างทำงานจำเลยยังค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2546 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2546 เป็นเวลา 193 วัน คิดเป็นเงิน 38,600 บาท รวมแล้วจำเลยค้างชำระค่าจ้างและค่าชดเชยโจทก์เป็นเงิน 44,600 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้างและค่าชดเชยจำนวน 44,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยตามฟ้องโจทก์ เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2546 โจทก์กับสามีเข้าไปอาศัยอยู่ที่บ้านของจำเลย และทำธูปให้จำเลยโดยตกลงคิดค่าจ้างตามผลงานที่ทำได้คิดเป็นกิโลกรัมละ 5 บาท ต่อมาจำเลยทราบว่าโจทก์และสามีกระทำการทุจริต ด้วยการนำเอาธูปที่จำเลยจ้างให้โจทก์ทำไปขายให้บุคคลภายนอกแล้วนำเงินไปใช้จ่ายโดยไม่ส่งมอบให้จำเลยและโจทก์ยังยักยอกเงินค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า รวมทั้งเงินค่าอุปกรณ์ก่อสร้างที่สั่งมาก่อสร้างจำนวนมาก จำเลยจึงให้โจทก์และสามีหยุดทำงานโดยจ่ายค่าทำธูปที่ค้างจ่ายให้ทั้งหมด เมื่อโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยจึงไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชยจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ยังศาลที่มีอำนาจภายในกำหนดอายุความ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงประการเดียวว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่และจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เมื่อพิเคราะห์คำว่า “สัญญาจ้างแรงงาน” “นายจ้าง” และ “ลูกจ้าง” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575, 583 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 แล้ว ลูกจ้าง คือผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้างโดยอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของนายจ้าง หมายความว่า ลูกจ้างต้องทำงานตามที่นายจ้างสั่งและต้องปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้าง หากลูกจ้างฝ่าฝืนนายจ้างสามารถลงโทษได้ คดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทำงานให้แก่จำเลย แต่ไม่แน่ชัดว่าโจทก์ทำงานทั่วไปหรือทำธูป ซึ่งก็ไม่ใช่ข้อวินิจฉัยถึงการเป็นนายจ้างลูกจ้าง ลักษณะสำคัญที่วินิจฉัยว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่ อยู่ที่อำนาจการบังคับบัญชา เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงการทำงานของโจทก์ไม่ปรากฏว่าต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของจำเลย หรือต้องปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แสดงว่าการทำงานของโจทก์ไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจำเลย โจทก์จึงมิได้เป็นลูกจ้างของจำเลย ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างและค่าชดเชยจากจำเลยตามฟ้อง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share