คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2875/2530

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่นายจ้างซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจให้ลูกจ้างออกจากงานเพราะเหตุขาดคุณสมบัติเนื่องจากไม่มีสัญชาติไทยนั้นถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 อันนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยแต่นายจ้างไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าในกรณีดังกล่าว เพราะเป็นการเลิกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติ มิได้เกี่ยวกับระยะเวลาการจ้างจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582มาใช้บังคับไม่ได้ ค่าชดเชยเป็นเงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง จึงเป็นหนี้เงินที่กฎหมายกำหนดเวลาชำระไว้แน่นอนแล้ว นายจ้างจึงต้องชำระดอกเบี้ยแก่ลูกจ้างในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างโดยลูกจ้าง มิพักต้องทวงถาม ส่วนเงินบำเหน็จกฎหมายมิได้บังคับให้นายจ้างต้องจ่ายแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง และไม่ปรากฏว่าลูกจ้างได้ทวงถามให้นายจ้างชำระแต่เมื่อใดนายจ้างจึงต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันนับแต่วันฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินโบนัส เงินบำเหน็จสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินประเภทต่าง ๆ ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้องศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมด้วยดอกเบี้ยแต่วันฟ้อง และให้จ่ายค่าชดเชยพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันเลิกจ้าง กับให้จ่ายเงินบำเหน็จพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง ทั้งนี้จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า “จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่าตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9 และข้อบังคับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2523) ว่าด้วยการบรรจุการแต่งตั้ง ฯลฯ พนักงานและลูกจ้าง ข้อ 5 ได้กำหนดคุณสมบัติของพนักงานรัฐวิสาหกิจไว้ว่า “พนักงานรัฐวิสาหกิจนอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้สำหรับรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ แล้วยังต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ด้วย(1) มีสัญชาติไทย ฯลฯ” และ “ผู้ที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งพนักงานหรือลูกจ้างต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย(1) มีสัญชาติไทย ฯลฯ” โจทก์ทั้งสามมิใช่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยจึงไม่สามารถที่จะได้รับการบรรจุให้เป็นพนักงานของจำเลยและจำเลยไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการรับโจทก์ทั้งสามเข้าทำงานได้ จำเลยมีคำสั่งรับโอนโจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างของจำเลยเพราะเป็นการเร่งด่วนไม่มีเวลาตรวจสอบคุณสมบัติเกี่ยวกับสัญชาติ ทั้งโจทก์ทั้งสามมิได้แจ้งเรื่องสัญชาติให้จำเลยทราบ คำสั่งรับโอนของจำเลยจึงเป็นโมฆะโจทก์ทั้งสามกับจำเลยจึงไม่มีความสัมพันธ์กันฉันลูกจ้างกับนายจ้างการที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ออกจากงานเพราะขาดคุณสมบัติเรื่องสัญชาติจึงเป็นการออกจากงานโดยผลของกฎหมาย มิใช่เป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานจำเลยจึงมีสิทธิสั่งให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ออกจากงานได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่จำเลยได้มีคำสั่งรับโอนโจทก์ทั้งสามมาเป็นลูกจ้างของจำเลยนั้นโจทก์ทั้งสามได้ทำงานให้แก่จำเลยโดยจำเลยได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการทำงานของโจทก์ทั้งสาม ทั้งจำเลยยังได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสามตลอดมาจนกระทั่งจำเลยให้ออกจากงาน แม้จะปรากฏในภายหลังว่าโจทก์ทั้งสามมิใช่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยอันเป็นการขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติและบังคับของจำเลยดังกล่าวก็ตาม ก็ต้องถือว่าโจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างของจำเลยแล้ว ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 และ 47 ไม่มีข้อความยกเว้นไว้เป็นกรณีพิเศษมิให้ถือว่าการที่พนักงานรัฐวิสาหกิจต้องออกจากงานเพราะเหตุไม่มีสัญชาติไทยอันเป็นการขาดคุณสมบัติตามกฎหมายหรือข้อบังคับมิใช่เป็นการเลิกจ้างเมื่อจำเลยสั่งให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2พ้นจากสภาพความเป็นลูกจ้างเพราะเหตุดังกล่าวโดยโจทก์ที่ 1 ที่ 2ไม่มีความผิด จึงต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้างอันจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าสำหรับโจทก์ที่ 1 ที่ 2 นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 ซึ่งมีข้อความว่า “ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้า ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้ แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน” นั้น เป็นบทบัญญัติเรื่องการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าเกี่ยวกับระยะเวลาการจ้างส่วนการกำหนดคุณสมบัติของพนักงานรัฐวิสาหกิจว่า พนักงานรัฐวิสาหกิจต้องมีสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติและข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวนั้นเป็นบทกฎหมายและข้อบังคับที่กำหนดคุณสมบัติไว้โดยเฉพาะ มิได้เกี่ยวกับระยะเวลาการจ้าง กรณีเช่นนี้จะนำบทบัญญัติมาตรา 582 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับกับการเลิกจ้างเพราะเหตุพนักงานรัฐวิสาหกิจไม่มีสัญชาติไทยมิได้ดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้ขาดคุณสมบัติเพราะไม่มีสัญชาติไทยจำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
จำเลยอุทธรณ์ประการต่อมาว่า ตามข้อบังคับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 20 พ.ศ. 2524 ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จระบุให้จ่ายเงินบำเหน็จแก่ “ผู้ปฏิบัติงาน” เพราะเหตุเกษียณอายุด้วยแต่โจทก์ที่ 3 มิใช่ลูกจ้างของจำเลยเนื่องจากมิใช่บุคคลผู้มีสัญชาติไทย ทั้งไม่มี “อายุการทำงาน” เข้าหลักเกณฑ์ตามข้อบังคับดังกล่าว โจทก์ที่ 3 จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าเมื่อวินิจฉัยมาในอุทธรณ์ข้อแรกแล้วว่าโจทก์ที่ 3เป็นลูกจ้างของจำเลยโดยจำเลยรับโอนโจทก์ที่ 3 มาจากโรงกลั่นน้ำมันทหาร(บางจาก) ซึ่งต้องนับ “อายุการทำงาน” ติดต่อกันมาจนถึงวันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 3 เพราะเหตุเกษียณอายุแล้วเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี โจทก์ที่ 3 จึงมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 20 พ.ศ. 2524 ข้อ 9.2 และข้อ 10 อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จำเลยอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า จำเลยไม่ต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสามเพราะจำเลยมิได้ผิดนัด และโจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินใด ๆ จากจำเลย พิเคราะห์แล้วดังได้วินิจฉัยมาแล้วว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลย และโจทก์ที่ 3มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจากจำเลย สำหรับค่าชดเชยนั้น เป็นเงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง จึงเป็นหนี้เงินซึ่งกฎหมายกำหนดเวลาชำระไว้แน่นอนแล้วโดยลูกจ้างมิพักต้องทวงถามอีก เมื่อจำเลยมิได้จ่ายจึงต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนเงินบำเหน็จนั้น กฎหมายมิได้บังคับให้นายจ้างต้องจ่ายแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง และไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 3ได้ทวงถามให้จำเลยชำระแต่เมื่อใด จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 3 ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 พร้อมด้วยดอกเบี้ยโดยมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้เป็นการผิดพลาดเล็กน้อย สมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยสำหรับค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share