คำวินิจฉัยที่ 96/2562

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน และเจ้าพนักงานที่ดิน จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกรมที่ดิน จำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง อ้างว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเคยเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ได้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๑๙๗๓ พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยฉ้อฉลเพื่อไม่ให้โจทก์ยึดทรัพย์บังคับคดีได้ตามคำพิพากษาของศาลฎีกา อันเป็นการทำนิติกรรมฉ้อฉล โดยมีคำขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กรณีจึงเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้โจทก์ฟ้องเจ้าพนักงานที่ดิน จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกรมที่ดิน จำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เข้ามาในคดีนี้ โดยอ้างว่าจำเลยที่ ๓ เจ้าพนักงานที่ดินในสังกัดจำเลยที่ ๔ จดทะเบียนโอนขายที่ดินโดยรู้อยู่แล้วว่าจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสและเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ ๑ เสียเปรียบอันเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการออกคำสั่งทางปกครอง โดยมีคำขอให้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดก็ตาม แต่เมื่อมูลเหตุอันเป็นข้อพิพาทสำคัญ เป็นเรื่องการขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นนิติสัมพันธ์ของบุคคลในทางแพ่ง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงสมควรที่จะได้รับการวินิจฉัยในศาลเดียวกัน ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share