คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3103/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ท. ลูกจ้างโจทก์ถึงแก่ความตายในขณะปฏิบัติงานให้โจทก์โจทก์ได้จ่ายเงินทดแทนและค่าทำศพให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นภริยาของ ท. แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 3 ได้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลแพ่ง ข้อหาละเมิดเรียกค่าเสียหาย โจทก์และจำเลยที่ 3 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ยอมให้จำเลยที่ 3 ขอรับเงินทดแทนจากสำนักงานกองทุนเงินทดแทนได้ โดยโจทก์จะไม่เกี่ยวข้องโต้แย้งจำเลยที่ 3 จึงยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนจากสำนักงานกองทุนเงินทดแทน ดังนี้ ไม่มีบทบัญญัติใดห้ามนายจ้างจ่ายเงินทดแทนหรือห้ามลูกจ้างรับเงินทดแทนเกินกว่าจำนวนที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ การที่จำเลยที่ 3ได้รับเงินทดแทนจากโจทก์แล้ว แต่โจทก์ยังทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 3 ยอมให้จำเลยที่ 3ยื่นขอรับเงินทดแทนจากสำนักงานกองทุนเงินทดแทนได้อีกสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นจึงหาเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่ แม้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องอัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบการจ่ายเงินทดแทนฯ ข้อ 15 วรรคสองกำหนดให้ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิยื่นคำร้องเรียกเงินทดแทนจากสำนักงานกองทุนเงินทดแทนภายในกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้มีสิทธิทราบว่าลูกจ้างถึงแก่ความตายและจำเลยที่ 3ยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดแล้ว ก็หาเป็นการห้ามสำนักงานกองทุนเงินทดแทนจ่ายเงินแก่จำเลยที่ 3 ไม่ และแม้การจ่ายเงินดังกล่าวทำให้โจทก์เสียหายเพราะต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนเพิ่มขึ้น แต่เป็นความเสียหายที่เกิดจากสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ทำลงโดยสมัครใจและบังคับได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องให้ห้ามกรมแรงงานและผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนเงินทดแทนจ่ายเงินทดแทนแก่จำเลยที่ 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ส. ลูกจ้างโจทก์ตายในขณะปฏิบัติหน้าที่ โจทก์ได้จ่ายเงินทดแทนให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นภริยาผู้ตายเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2519 วันที่ 28พฤศจิกายน 2520 จำเลยที่ 3 ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ที่ศาลแพ่ง ตกลงกันได้โดยโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 3 ไปรับเงินทดแทนจากสำนักงานกองทุนเงินทดแทน วันที่ 17 มีนาคม 2523 จำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำร้องเรียกเงินทดแทนจากสำนักงานกองทุนเงินทดแทน จำเลยที่ 2 ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนเงินทดแทน มีหนังสือแจ้งมายังโจทก์ว่า อนุมัติให้จ่ายเงินทดแทนแก่จำเลยที่ 3โจทก์เห็นว่าเป็นการจ่ายเงินทดแทนซ้ำซ้อนและเรียกร้องหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วถึง 3 ปีเศษ เกินกำหนดเวลาสำหรับการขอรับเงินทดแทน จึงมีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 ขอให้พิจารณาและวินิจฉัยใหม่ จำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือตอบยืนยันคำวินิจฉัยเดิม ขอให้ศาลพิพากษาว่าคำวินิจฉัยนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จ่ายเงินทดแทนให้จำเลยที่ 3 และพิพากษาว่าจำเลยที่ 3 ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินทดแทนอย่างใดต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า คำสั่งของจำเลยทั้งสองชอบด้วยกฎหมายแล้ว

จำเลยที่ 3 ให้การว่า ได้รับเงินทดแทนและค่าทำศพไปจากโจทก์จริงแต่เงินจำนวนนี้ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนถือว่าเป็นการจ่ายโดยหน้าที่ศีลธรรม เป็นค่าขาดไร้อุปการะที่จำเลยที่ 3 และบุตรผู้เยาว์พึงได้รับตามกฎหมาย จึงไม่ใช่การจ่ายเงินซ้ำซ้อน จำเลยที่ 3 ฟ้องโจทก์ที่ศาลแพ่งฐานละเมิดมิใช่ฟ้องเรียกเงินทดแทน คดีนั้นได้ตกลงประนีประนอมยอมความกัน จำเลยที่ 3 ได้ไปยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนต่อสำนักงานกองทุนเงินทดแทนโดยใช้สิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอม หาใช่ขอรับเงินทดแทนตามประกาศกระทรวงมหาดไทยไม่

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า สำนักงานกองทุนเงินทดแทนมีคำสั่งให้จ่ายเงินทดแทนแก่จำเลยที่ 3 เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ไม่เป็นการจ่ายเงินทดแทนซ้ำซ้อน พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 52 และ 54 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2516 ข้อ 3 เพียงกำหนดว่า เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย หรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตาย ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าทำศพและค่าทดแทนเป็นรายเดือนตามจำนวนที่กำหนดไว้ หามีบทบัญญัติใดห้ามนายจ้างจ่ายเงินทดแทนหรือห้ามลูกจ้างรับเงินทดแทนเกินกว่าจำนวนที่กำหนดไม่ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 ได้รับเงินทดแทนจากโจทก์แล้ว แต่โจทก์ยังทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 3 ยอมให้จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนจากสำนักงานกองทุนเงินทดแทนได้ โดยโจทก์จะไม่เกี่ยวข้องโต้แย้งอีก สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงหาเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่ ส่วนที่มีบทบัญญัติข้อ 15 วรรคสอง แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบการจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและการอุทธรณ์ ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2516 กำหนดให้ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิยื่นคำร้องเรียกเงินทดแทนจากสำนักงานกองทุนเงินทดแทนภายในกำหนด90 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างประสบอันตราย หรือเจ็บป่วย หรือนับแต่วันที่ผู้มีสิทธิทราบว่าลูกจ้างถึงแก่ความตายแล้วแต่กรณี แต่จำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำร้องเรียกเงินทดแทนจากสำนักงานกองทุนเงินทดแทนเมื่อพ้น 90 วัน นับแต่จำเลยที่ 3ทราบว่า ส. ถึงแก่ความตายแล้วนั้น เห็นว่าข้อความตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวหาเป็นการห้ามสำนักงานกองทุนเงินทดแทนจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิยื่นคำร้องล่วงเลยกำหนดไม่ ทั้งได้ความว่าขณะที่โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 3 กำหนดเวลา 90 วัน นับแต่จำเลยที่ 3 ทราบว่า ส. ถึงแก่ความตายก็ล่วงพ้นไปแล้ว แสดงว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องต่อสำนักงานกองทุนเงินทดแทนเมื่อพ้นกำหนดตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวแล้วได้ จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงมีอำนาจจ่ายเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนแก่จำเลยที่ 3 แม้การจ่ายเงินดังกล่าวทำให้โจทก์ต้องเสียหายเพราะต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น แต่เป็นความเสียหายที่เกิดจากสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ทำส่งโดยสมัครใจและบังคับได้โจทก์จึงหามีสิทธินำคดีมาฟ้องให้ห้ามจำเลยที่ 1 ที่ 2 จ่ายเงินทดแทนแก่จำเลยที่ 3 ไม่

พิพากษายืน

Share