คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 41/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่พิพาทเป็นป่า แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 โจทก์ย่อมเข้ายึดถือครอบครองได้ ส่วนจะได้กรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิเพียงใดนั้น เป็นเรื่องระหว่างรัฐกับโจทก์ แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิดีกว่าผู้อื่นซึ่งเข้าครอบครองภายหลัง การที่จำเลยเข้าแย่งการครอบครองอันเป็นการรบกวนสิทธิของโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินร่วมกัน 1 แปลง ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 12 ตำบลเขาฉกรรจ์ อำเภอสระแก้ว จังหวัดปราจีนบุรี ได้มาโดยโจทก์เข้าครอบครองบุกเบิกที่รกร้างว่างเปล่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ทำไร่และปลูกกล้วย จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้สมคบกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 บุกรุกเข้าไปครอบครองทำไร่ในที่ดินของโจทก์ โดยเจตนายึดเอาที่ดินของโจทก์ทั้งหมด เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ขับไล่จำเลยทุกคนออกจากที่ดินของโจทก์ห้ามมิให้จำเลยเข้าเกี่ยวข้องต่อไป

ต่อมาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองที่ดิน ที่ดินนี้เดิมจำเลยที่ 2 ครอบครองอยู่ จำเลยที่ 3 ซื้อมาจากจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 ให้การว่า โจทก์ที่ 2 ที่ 3 เป็นหญิงมีสามีไม่ได้รับความยินยอมจากสามี ไม่มีสิทธิฟ้อง ที่ดินที่จำเลยครอบครองอยู่เป็นที่ดินของจำเลยเอง โดยซื้อมาจากบุคคลภายนอก

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 ออกจากที่ดินแปลงพิพาท

จำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 8 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 3 ที่ 5 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่มาสู่ศาลฎีกาคงมีว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 3 ที่ 5 ฎีกาว่าที่พิพาทเป็นป่าตามมติคณะรัฐมนตรีอยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ โจทก์ไม่มีสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า จำเลยฎีกาว่าที่พิพาทเป็นป่าแต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ฉะนั้น โจทก์ย่อมเข้าไปยึดถือครอบครองได้ ส่วนจะได้กรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิเพียงใดนั้น เป็นเรื่องระหว่างรัฐกับโจทก์ แต่ในระหว่างราษฎรด้วยกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิดีกว่าผู้อื่นซึ่งเข้าครอบครองภายหลัง การที่จำเลยที่ 3 ที่ 5 กับพวกเข้าแย่งการครอบครองอันเป็นการรบกวนสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

พิพากษายืน

Share