แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บริษัทลูกหนี้ (จำเลย) ได้มอบวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์นมข้นหวานจำนำไว้แก่ผู้คัดค้านในวันเดียวกับวันที่บริษัทลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้ผู้เป็น โจทก์ฟ้องให้ล้มละลายบริษัทลูกหนี้ย่อมทราบอย่างแน่ชัดแล้วว่าฐานะทางการเงินของบริษัทลูกหนี้ไม่ดีไม่สามารถที่จะชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านและบรรดาเจ้าหนี้อื่นได้ เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดบริษัทลูกหนี้แล้ว มีเจ้าหนี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวม 51 รายเป็นเงินประมาณ 67 ล้านบาท แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้ได้เพียงที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 1 แปลง ซึ่งมีราคาประมาณ 14 ล้านบาทเท่านั้น การที่บริษัทลูกหนี้จำนำวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์นมข้นหวานไว้แก่ผู้คัดค้าน จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น เมื่อผู้คัดค้านนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนำมาหักทอนบัญชีลดยอดหนี้และนำเงินเข้าบัญชีกระแสรายวันของบริษัทลูกหนี้รวมเป็นเงิน 5,462,800 บาท อันเป็นการชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านแต่ผู้เดียวนั้นย่อมเป็นการกระทำเพื่อให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการกระทำนั้นเสียได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 115 และผู้คัดค้านไม่อาจอ้างได้ว่าผู้คัดค้านมีบุริมสิทธิในทรัพย์จำนำนั้น
การที่บริษัทลูกหนี้นำเงินเข้าบัญชีเป็นการชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านภายหลังจากบริษัทลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฟ้องให้ล้มละลายแล้วซึ่งผู้คัดค้านก็ทราบถึงภาวะการมีหนี้สินล้นพ้นตัวของบริษัทลูกหนี้เป็นอย่างดีแล้วว่าไม่อาจชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายได้ เป็นการกระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการชำระหนี้นั้นเสียได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 115.
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บริษัทลูกหนี้ (จำเลย) ล้มละลายเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๑๓ ศาลฎีกามีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาดเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๑๘ และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๒๐ ขณะนี้ยังไม่พ้นภาวะดังกล่าว ผู้ร้องยื่นคำร้องสองฉบับขอให้เพิกถอนการจำนำและการชำระหนี้แก่ผู้คัดค้านโดยอ้างว่าเป็นการสมยอมกันโดยรู้อยู่ว่า บริษัทลูกหนี้เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น และให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถจะทำได้ให้ผู้คัดค้านใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า การกระทำดังกล่าวไม่ใช่เป็นการหักหนี้หรือเลือกชำระหนี้เพื่อให้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ผู้คัดค้านไม่มีหน้าที่ใช้หรือคืนเงินแก่ผู้ร้อง ทั้งคดีขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นให้รวมการพิจารณาคำร้องของผู้ร้องทั้งสองฉบับเข้าด้วยกัน แล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสองฉบับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการจำนำและการบังคับจำนำวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตนมข้นหวาน ระหว่างบริษัทลูกหนี้กับผู้คัดค้าน ให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถกระทำได้ให้ผู้คัดค้านคืนเงินให้ผู้ร้องเป็นเงิน ๙,๗๑๘,๙๙๘.๔๓ บาท และให้เพิกถอนการชำระหนี้ตามบัญชีกระแสรายวันเลขที่ ๙๑๕๙ ตั้งแต่วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๓ ถึงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๑๔ รวม ๒๙ รายการเป็นเงิน ๙๕๗,๙๓๕.๕๗ บาท ระหว่างบริษัทลูกหนี้กับผู้คัดค้านและให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมหากไม่สามารถกระทำได้ ให้ผู้คัดค้านคืนเงินให้ผู้ร้องเป็นเงิน ๙๕๗,๙๓๕.๕๗ บาท พร้อมดอกเบี้ย
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาในชั้นฎีกาข้อแรกมีว่า การจำนำ การบังคับจำนำ และการชำระหนี้ (หักยอดหนี้) ตามคำร้องฉบับลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๒๓ ระหว่างบริษัทลูกหนี้ (จำเลย) กับผู้คัดค้านนั้น เป็นการกระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งให้เพิกถอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๕ ได้หรือไม่ ปรากฏว่าบริษัทลูกหนี้ (จำเลย) ได้มอบวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์นมข้นหวานจำนำไว้แก่ผู้คัดค้าน เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๑๓ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่บริษัทลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฟ้องให้ล้มละลายเป็นคดีนี้ ดังนั้นการจำนำดังกล่าวบริษัทลูกหนี้ย่อมทราบเป็นอย่างแน่ชัดแล้วว่า ฐานะทางการเงินของบริษัทลูกหนี้ไม่ดี ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านและบรรดาเจ้าหนี้อื่นได้ ตามรายงานการประชุมกรรมการครั้งที่ ๑๒/๒๕๑๓ ของบริษัทลูกหนี้เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๑๓ ซึ่งผู้คัดค้านก็ทราบถึงฐานะทางการเงินของบริษัทลูกหนี้เป็นอย่างดีแล้วว่าบริษัทลูกหนี้ไม่สามารถจะชำระหนี้สินให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายได้ทั้งนี้เพราะผู้คัดค้านก็ได้เข้าไปดำเนินกิจการในบริษัทลูกหนี้เองโดยส่งเจ้าหน้าที่ของผู้คัดค้านเข้าเป็นประธานกรรมการ กรรมการบริหาร สมุห์บัญชี และเป็นผู้ควบคุมสต๊อกสินค้าวัตถุดิบและอื่นๆ ในบริษัทลูกหนี้ รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย ร.๔๒ ถึง ร.๔๖ และเมื่อพิจารณาจากการ์ดบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย ค.๔ โดยตลอดแล้วแสดงว่า บริษัทลูกหนี้เป็นลูกหนี้ผู้คัดค้านมาโดยตลอด ไม่เคยอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ผู้คัดค้านเลยคดีล้มละลายคดีนี้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดบริษัทลูกหนี้แล้ว มีเจ้าหนี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวม ๕๑ ราย เป็นเงินประมาณ ๖๗ ล้านบาทเศษแต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้ได้เพียงที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ๑ แปลง ซึ่งมีราคาประมาณ ๑๔ ล้านบาทเศษเท่านั้น ฉะนั้นการที่บริษัทลูกหนี้จำนำวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์นมข้นหวานไว้แก่ผู้คัดค้าน จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น เมื่อผู้คัดค้านนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนำมาหักทอนบัญชีลดยอดหนี้และนำยอดเงินเข้าบัญชีกระแสรายวันของบริษัทลูกหนี้ในวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๑๓ จำนวน ๑.๐๖๗, ๖๐๐ บาท ๑,๑๙๕,๒๐๐ บาท และวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๓ จำนวน ๓,๒๐๐,๐๐๐ บาท รวมยอดเงินทั้งสิ้น ๕,๔๖๒,๘๐๐ บาท อันเป็นการชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านแต่ผู้เดียวนั้น ย่อมเป็นการกระทำเพื่อให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการกระทำนั้นเสียได้ตามพระราชบัญญติล้มละลายพุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๕ ผู้คัดค้านไม่อาจอ้างได้ว่าผู้คัดค้านมีบุริมสิทธิในทรัพย์จำนำแต่ประการใด
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า การชำระหนี้ตามบัญชีกระแสรายวันเลขที่ ๙๑๕๙ ตั้งแต่วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๓ ถึงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๑๔ รวม ๒๙ รายการเป็นเงิน ๙๕๗,๙๓๕.๕๗ บาท ตามคำร้องลงวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๓ ระหว่างบริษัทลูกหนี้ (จำเลย) กับธนาคารผู้คัดค้านนั้น เป็นการกระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งเพิกถอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๕ ได้หรือไม่ ปรากฏว่าบริษัทลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฟ้องให้ล้มละลายเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๑๓ ดังนั้น การที่บริษัทลูกหนี้ชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านตั้งแต่วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๓ ถึงวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๑๔ จึงเป็นการกระทำภายหลังจากบริษัทลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฟ้องให้ล้มละลายแล้วซึ่งผู้คัดค้านก็ทราบถึงภาวะการมีหนี้สินล้นพ้นตัวของบริษัทลูกหนี้เป็นอย่างดีแล้วว่า ไม่อาจชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายได้ ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้คัดค้านได้ส่งเจ้าหน้าที่ของผู้คัดค้านเข้าไปควบคุมบริหารกิจการของบริษัทลูกหนี้ตั้งแต่วันที่บริษัทลูกหนี้ถูกฟ้องล้มละลายคดีนี้ ฉะนั้นการที่บริษัทลูกหนี้ชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการชำระหนี้นั้นเสียได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช ๒๔๘๓ มาตรา ๑๑๕
พิพากษายืน.