คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6428/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ทวิ ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ได้บัญญัติถึงผู้ที่จะอนุญาตหรือรับรองให้อุทธรณ์ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 22 ไว้โดยเฉพาะแล้วว่าเป็นผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลแขวง หรืออธิบดีกรมอัยการหรือพนักงานอัยการซึ่งอธิบดีกรมอัยการได้มอบหมายเท่านั้น กรณีจึงไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 230 วรรคสาม ที่กำหนดให้ผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องต่อศาลถึงอธิบดีผู้พิพากษาหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคเพื่อมีคำสั่งยืนตามหรือกลับคำสั่งของศาลที่ไม่รับอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลมได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 900 บาท ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงปรับ 600 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 วันที่ 10 เมษายน 2555 จำเลยยื่นอุทธรณ์พร้อมยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง และมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย ต่อมาวันที่ 17 เมษายน 2555 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ส่งสำนวนไปให้อธิบดีผู้พิพากษาหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคอนุญาตให้จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 230 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การรับรองอุทธรณ์ได้บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ตรี (ที่ถูก พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ทวิ ประกอบพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3) แล้ว จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาขอให้ส่งสำนวนไปให้อธิบดีผู้พิพากษาหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาค 3 อนุญาตให้จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 230 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ทวิ ประกอบพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ได้บัญญัติถึงผู้ที่จะอนุญาตหรือรับรองให้อุทธรณ์ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 22 ไว้โดยเฉพาะแล้วว่าเป็นผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลแขวงหรืออธิบดีกรมอัยการหรือพนักงานอัยการซึ่งอธิบดีกรมอัยการได้มอบหมายเท่านั้น กรณีจึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 230 วรรคสาม ที่กำหนดให้ผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องต่อศาลถึงอธิบดีผู้พิพากษาหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคเพื่อมีคำสั่งยืนตามหรือกลับคำสั่งของศาลที่ไม่รับอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 มาใช้บังคับโดยอนุโลมได้ ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของจำเลยชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share