คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2860/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ทนายจำเลยอ้างในคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ว่าจำเลยมีกิจธุระจำเป็นต้องไปต่างจังหวัดและกลับไม่ทันเพราะน้ำท่วมทางขาดโดยไม่ได้นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความมอบให้แก่ทนายจำเลยเพื่อการอุทธรณ์เป็นเหตุให้ทนายจำเลยยื่นอุทธรณ์ไม่ได้เป็นความผิดหรือความบกพร่องของจำเลยเองมิใช่พฤติการณ์พิเศษที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์และกรณีไม่ใช่เหตุสุดวิสัย.

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน161,541161,541.28 บาท แก่โจทก์ ครั้นวันที่ 31 ตุลาคม 2526 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดอุทธรณ์ ทนายจำเลยยื่นคำร้องว่า เนื่องจากก่อนหน้าที่จะครบกำหนดอุทธรณ์ จำเลยมีกิจธุระจำต้องเดินทางไป ต่างจังหวัดและไม่สามารถเดินทางกลับได้ทันเพราะเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ น้ำท่วมสูงมาก เส้นทางและคอสะพานขาด ต้องอยู่ที่ต่างจังหวัดไปก่อนจนกว่าปัญหาดังกล่าวจะหมดสิ้นไปและทางราชการสามารถแก้ไขเส้นทางการเดินทางได้ ทนายจำเลยได้ติดต่อกับจำเลยแล้ว จำเลยยืนยันว่าจะกลับถึงกรุงเทพมหานครได้ในราววันที่ 15 พฤศจิกายน 2526 จึงขอให้ศาลขยายระยะเวลาการวางเงินค่าฤชาธรรมเนียอุทธรณ์ภายในวันที่ 15 พฤศจิกายนจ 2526 โดยทำอุทธรณ์ยื่นพร้อมคำร้องด้วย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าพฤติการณ์ตามคำร้องไม่ใช่พฤติการณ์พิเศษตามความในมาตรา 23 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การขอขยายระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ศาลจะสั่งขยายได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ คดีจึงมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้เพียงว่าเหตุผลตามที่ทนายจำเลยอ้างมาในคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เป็นพฤติการณ์พิเศษหรือไม่ ตามคำร้องของทนายจำเลยข้างต้นสรุปความได้ว่า จำเลยยื่นอุทธรณ์ไม่ได้เพราะรอเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความที่จะต้องวางศาลจากจำเลยซึ่งมีกิจธุระจำเป็นต้องไปต่างจังหวัดและกลับไม่ทัน เพราะน้ำท่วม ทางขาด ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยและทนายจำเลยย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า ในการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความมาวางศาลพร้อมคำฟ้องอุทธรณ์ การที่จำเลยไปต่างจังหวัดโดยมิได้นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความมอบให้แก่ทนายจำเลยเพื่อการอุทธรณ์ เป็นเหตุให้ทนายจำเลยยื่นอุทธรณ์ไม่ได้ จึงเป็นความผิดหรือความบกพร่องของจำเลยเอง มิใช่พฤติการณ์พิเศษที่จะยกขึ้นมากล่าวอ้างเพื่อขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ และหาเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัยดังจำเลยฎีกาไม่ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ฯ”.

Share