คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2855/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2477 มาตรา 3กำหนดให้ผู้กระทำผิดตามมาตราซึ่งระบุไว้ เมื่อถูกศาลพิพากษาลงโทษแล้ว จำต้องผูกพันในการจ่ายสินบนนำจับแก่ผู้จับ นำจับ หรือนำความมาแจ้งต่อเจ้าพนักงานด้วย แต่ก็ไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุให้อำนาจแก่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานอัยการที่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งจำเลยจ่ายเงินสินบนแก่บุคคลดังกล่าวได้ ส่วนมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 ดังที่โจทก์อ้างก็เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการฟ้องเพื่อเอาโทษแก่ผู้กระทำผิด แต่การชำระเงินค่าสินบนตามมาตรา 3 ดังกล่าวมิใช่โทษ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 39ที่ให้อำนาจพนักงานอัยการร้องขอให้บังคับผู้กระทำผิดได้ กรณีเช่นนี้ย่อมเป็นเรื่องที่เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้จับ นำจับ หรือนำความมาแจ้งต่อเจ้าพนักงานเท่านั้นที่จะร้องขอต่อศาล โจทก์จึงไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลให้สั่งจำเลยจ่ายเงินสินบนในคดีนี้ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัดพ.ศ. 2466 มาตรา 31, 38 พระราชบัญญัติมาตรา ชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2477 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33,91, 270 ริบของกลาง จ่ายสินบนแก่ผู้แจ้งต่อเจ้าพนักงานด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 270 และพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มาตรา 31อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 เดือน ปรับ 1,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน ปรับ500 บาท โทษจำคุกให้รอไว้ 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามมาตรา 29, 30ของกลางริบ คำขอให้จ่ายสินบนให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจร้องขอต่อศาลให้สั่งจำเลยจ่ายเงินสินบนในคดีนี้หรือไม่พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2477 มาตรา 3 บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 29, 30, 31, 32, 33,34, 35 และ 36 แห่งพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 และได้ถูกศาลพิพากษาให้ลงโทษ ท่านว่าผู้กระทำผิดนั้น ๆ จะต้องชำระเงินค่าสินบนให้แก่ผู้จับ นำจับ หรือนำความมาแจ้งต่อเจ้าพนักงานในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 แห่งเงินค่าปรับแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร”เห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้กระทำผิดต่าง ๆ ตามมาตราที่ระบุไว้ เมื่อถูกศาลพิพากษาลงโทษแล้วจำต้องผูกพันในการจ่ายสินบนนำจับแก่ผู้จับ นำจับ หรือนำความมาแจ้งต่อเจ้าพนักงานด้วยแต่ก็ไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุให้อำนาจแก่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานอัยการที่จะร้องขอต่อศาลให้สั่งจำเลยจ่ายเงินสินบนแก่บุคคลดังกล่าวได้ ส่วนมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466ดังที่โจทก์อ้างก็เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการฟ้องเพื่อเอาโทษแก่ผู้กระทำผิด แต่การชำระเงินค่าสินบนตามมาตรา 3 ดังกล่าวข้างต้นมิใช่โทษ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 39 ที่ให้อำนาจพนักงานอัยการร้องขอให้บังคับผู้กระทำผิดได้ กรณีเช่นนี้ย่อมเป็นเรื่องที่เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้จับ นำจับ หรือนำความมาแจ้งต่อเจ้าพนักงานเท่านั้นที่จะร้องขอต่อศาล โจทก์จึงไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลให้สั่งจำเลยจ่ายเงินสินบนในคดีนี้ได้…”
พิพากษายืน.

Share