แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ทนายโจทก์มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความและได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลย ศาลพิพากษาตามยอมแล้วดังนี้ แม้ทนายจำเลยจะบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ แก่ทนายโจทก์ไม่ตรงต่อความจริงแต่ทนายโจทก์ย่อมมีโอกาสใช้ดุลพินิจ ไตร่ตรอง แล้วว่าสมควรจะตกลงทำสัญญากับจำเลยหรือไม่ ทั้งข้ออ้างที่ว่าทนายโจทก์ขาดสติสัมปชัญญะเพราะเหตุผลเรื่องสุขภาพ จึงตกลงประนีประนอมยอมความกับทนายจำเลยนั้นก็เป็นความบกพร่องของทนายโจทก์เอง โจทก์จึงจะอ้างว่าได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความไปโดยถูกฝ่ายจำเลยฉ้อฉลหาได้ไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นนายจ้างโจทก์ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำผิดอย่างร้ายแรงอันเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และไม่จ่ายค่าชดเชย ระหว่างทำงานกับจำเลย โจทก์ทำงานล่วงเวลาแต่จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์ไม่ครบ ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย ค่าชดเชย และค่าล่วงเวลาให้โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดระเบียบของจำเลยอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างได้ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายและค่าชดเชย โจทก์ได้รับค่าล่วงเวลาไปครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณาคู่ความตกลงกันได้ ศาลแรงงานกลางจึงทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้และพิพากษาตามยอมแล้ว
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 ซึ่งใช้บังคับในการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 บัญญัติว่าในคดีที่คู่ความตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้มีการถอนฟ้อง เมื่อศาลพิพากษาตามยอมแล้วห้ามคู่ความมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาเช่นว่านั้น เว้นแต่กรรีจะเข้าข้อยกเว้นข้อหนึ่งข้อใดดังต่อไปนี้ (1) เมื่อมีการกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล (2) ฯลฯ อุทธรณ์ของโจทก์ที่อ้างว่าทนายโจทก์ถูกทนายจำเลยฉ้อฉลว่าโจทก์รับสารภาพต่อคณะผู้สอบสวนของจำเลยว่าโจทก์ได้นำรถออกนอกเส้นทางและดื่มสุราในวันเกิดเหตุ และทนายโจทก์ขาดสติสัมปชัญญะเพราะแผลผ่าตัดเป็นโรคจิตประสาท จึงตกลงประนีประนอมยอมความกับทนายจำเลยไปนั้น เห็นว่า ถึงแม้ทนายจำเลยจะได้บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ แก่ทนายโจทก์โดยไม่ตรงต่อความจริงแต่ทนายโจทก์ ย่อมมีโอกาสใช้ดุลพินิจไตร่ตรองแล้วว่าสมควรจะตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับทนายจำเลยหรือไม่ ส่วนข้ออ้างที่ว่าทนายโจทก์ขาดสติสัมปชัญญะเพราะเหตุผลเรื่องสุขภาพของทนายโจทก์นั้นก็เป็นความบกพร่องของทนายโจทก์เอง โจทก์จึงจะอ้างว่าได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลไปโดยถูกฝ่ายจำเลยฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138(1) หาได้ไม่อุทธรณ์ของโจทก์จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว”
พิพากษาให้ยกอุทธรณ์โจทก์.