คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2884/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยโดยหาว่าจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อศาลและเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า โจทก์มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาในคดีแพ่ง ต่อมาจำเลยนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปบังคับคดีและสั่งให้คนงานรื้อถอนทำลายแนวรั้วของโจทก์โดยจำเลยรู้ดีอยู่แล้วว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้วเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและทำให้เสียทรัพย์รวมกันมา โจทก์จึงอาศัยมูลคดีอาญาฐานทำให้เสียทรัพย์ฟ้องจำเลยให้รับผิดทางแพ่งฐานละเมิดได้ โดยไม่ต้องวินิจฉัยว่าความเสียหายเกิดจากการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จด้วยหรือไม่ เป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาและคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการหากระทบกระเทือนถึงอายุความในการฟ้องคดีแพ่งด้วยไม่ เมื่อมูลคดีนี้ไม่มีผู้ใดฟ้องจำเลยทางอาญาจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคหนึ่งประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เดิมจำเลยกับพวกได้ฟ้องโจทก์กับพวกเป็นจำเลยต่อศาล ขอให้เพิกถอนการยกเลิกภารจำยอมและให้รื้อถอนรั้วคอนกรีตเพื่อเปิดเป็นทางเดินออกสู่ทางสาธารณะ ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวร่วมกันรื้อถอนรั้วคอนกรีตกว้าง 1 เมตร และโจทก์ได้ดำเนินการรื้อถอนรั้วของโจทก์กว้าง1.20 เมตร เพื่อเปิดเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะจนเป็นที่พอใจของจำเลยแล้วแต่จำเลยกลับยื่นคำแถลงขอให้ศาลออกคำบังคับโดยแถลงข้อความอันเป็นเท็จว่าโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยคดีดังกล่าวมิได้ไปฟังคำพิพากษาศาลฎีกาและยื่นคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีจนศาลหลงเชื่อออกคำบังคับและหมายบังคับคดีให้ต่อมาวันที่ 23 เมษายน 2540 จำเลยได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการรื้อถอนรั้วคอนกรีตของโจทก์โดยแถลงเท็จต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีและนำชี้ว่ารั้วคอนกรีตของโจทก์ด้านที่อยู่ติดกับบ้านเลขที่ 142/1คือรั้วพิพาทตามหมายบังคับคดีขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการรื้อถอนเพื่อให้เป็นไปตามหมายบังคับคดีและจำเลยได้สั่งให้คนงานทำการรื้อถอนรั้วคอนกรีตของโจทก์ด้านหน้ายาวประมาณ 1 เมตร และด้านข้างยาวประมาณ12 เมตร การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการจงใจกระทำความผิดต่อกฎหมายอาญาโดยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อศาลและเจ้าพนักงานบังคับคดีทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ขอคิดค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 23 เมษายน 2540 จนถึงวันฟ้องคิดเป็นค่าดอกเบี้ยอีก 15,000บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 215,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน215,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่าโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกา จำเลยจึงยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้ออกคำบังคับและยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตามลำดับแล้วจำเลยได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปรื้อถอนรั้วพิพาทเมื่อวันที่ 23เมษายน 2540 โดยจำเลยนำชี้ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรื้อถอนรั้วของโจทก์กว้างประมาณ 1 เมตร เท่านั้น จำเลยกระทำการไปโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกา จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ค่าเสียหายของโจทก์หากมีก็ไม่เกิน5,000 บาท ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2540 โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี ขอให้ยกฟ้อง

ก่อนเริ่มต้นสืบพยาน จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์2542 ขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ต่อมาในวันนัดสืบพยานโจทก์ศาลชั้นต้นสอบถามโจทก์แล้ว โจทก์แถลงยอมรับข้อเท็จจริงว่า โจทก์เคยยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นในมูลคดีเดียวกันนี้และศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดี เนื่องจากโจทก์ขาดนัดพิจารณา ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 17703/2541 ของศาลชั้นต้น และมูลคดีนี้โจทก์เคยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องแล้ว และหลังจากนั้นโจทก์ก็มิได้ยื่นฟ้องคดีอาญาด้วยตนเอง รายละเอียดปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2542ของศาลชั้นต้น

ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้วยกปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอายุความขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 โดยวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความและพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงข้อเดียวว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยโดยกล่าวหาว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายอาญา โดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อศาลและเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า โจทก์มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกา ต่อมาวันที่ 23เมษายน 2540 จำเลยได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการรื้อรั้วบ้านโจทก์และนำชี้ว่ารั้วบ้านโจทก์ด้านที่ติดกับบ้านเลขที่ 142/1 คือรั้วพิพาทตามหมายบังคับคดีในคดีแพ่งดังกล่าว และจำเลยได้สั่งให้คนงานทำการรื้อถอนทำลายแนวรั้วของโจทก์ดังกล่าว ทำให้โจทก์เสียหายโดยจำเลยรู้ดีอยู่แล้วว่าความจริงโจทก์ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวไปครบถ้วนแล้วตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าว เป็นกรณีที่โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยกระทำความผิดทางอาญาฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและฐานทำให้เสียทรัพย์รวมกันมา ความเสียหายที่รั้วบ้านโจทก์ถูกรื้อถอนทำลายเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากการกระทำความผิดทางอาญาฐานทำให้เสียทรัพย์ของจำเลย โจทก์จึงอาศัยมูลคดีอาญาฐานทำให้เสียทรัพย์ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยให้รับผิดทางแพ่งฐานละเมิดได้ทั้งนี้โดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่าความเสียหายของโจทก์เป็นผลเกิดจากการกระทำความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยด้วยหรือไม่ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา แม้จะปรากฏตามคำแถลงรับของโจทก์ว่ามูลคดีอาญาดังกล่าวโจทก์เคยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในความผิดฐานบุกรุกและฐานทำให้เสียทรัพย์พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยในความผิดดังกล่าวมาแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่บทกฎหมายบัญญัติให้คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการดังกล่าวมีผลกระทบกระเทือนถึงอายุความในการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาของผู้เสียหายแต่อย่างใด เมื่อคดีฟังได้ว่ามูลคดีนี้ไม่มีผู้ใดฟ้องจำเลยทางอาญา กรณีจึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสองมาใช้บังคับ มิใช่ถือเอาอายุความ 1 ปี ฐานละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่งมาใช้บังคับดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย และกรณีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 นั้น มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงมีอายุความฟ้องร้อง 10 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(3) คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ทำละเมิดเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2540 และมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นผู้ทำละเมิดเมื่อวันที่ 8ตุลาคม 2541 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์อ้างคดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความทั้งนี้โดยไม่มีความจำเป็นต้องวินิจฉัยว่า มูลคดีนี้ซึ่งโจทก์เคยฟ้องจำเลยให้รับผิดในทางแพ่งตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 17703/2541 ของศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเนื่องจากโจทก์ขาดนัดพิจารณานั้น มีผลทำให้อายุความฟ้องร้องคดีนี้สะดุดหยุดลงหรือไม่อีก เพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษานี้ได้ที่ศาลชั้นต้นด่วนมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้ววินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยต่อไป แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share