แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ในชื่อค่าครองชีพ เมื่อเป็นเงินที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายให้แก่โจทก์เป็นประจำจำนวนแน่นอนโดยไม่ต้องนำใบเสร็จค่าน้ำมันมาเบิก อันเป็นการจ่ายให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และจำเลยจ่ายให้เพื่อเป็นการชดเชยค่าน้ำมันรถยนต์ให้แก่ผู้บริหารที่ใช้รถยนต์ส่วนตัว เพื่อการงานของจำเลยอันเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานของโจทก์ ค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์จึงเป็นค่าจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2
จำเลยออกประกาศจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์ให้แก่ผู้บริหารอันเป็นประกาศที่จำเลยกำหนดขึ้นฝ่ายเดียว แต่ประกาศดังกล่าวเป็นคุณแก่ลูกจ้าง จึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีผลบังคับใช้ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 20
การที่จำเลยออกประกาศลดค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารและออกประกาศเลิกจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารเพียงฝ่ายเดียว แม้โจทก์และลูกจ้างของจำเลยมิได้คัดค้าน แต่โจทก์และลูกจ้างก็มิได้ยินยอมให้จำเลยลดหรือเลิกการจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหาร ประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวขัดแย้งกับประกาศเดิมและไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าย่อมไม่มีผลใช้บังคับ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 48,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารที่จำเลยจ่ายให้โจทก์นั้นเป็นค่าจ้างต้องนำไปเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยจำเลยจึงจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ขาดไปจำนวน 24,000 บาท ส่วนการที่จำเลยประกาศลดและยกเลิกค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารนั้น โจทก์มิได้ตกลงด้วย การประกาศลดและยกเลิกค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารจึงไม่มีผล จำเลยต้องจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารให้แก่โจทก์ตามข้อตกลงเดิมซึ่งจ่ายขาดไปจำนวน 24,000 บาท พิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยที่จ่ายขาดจำนวน 24,000 บาท ค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารที่จ่ายขาดจำนวน 24,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 10,061.10 บาท รวม 58,061.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้นค่าจ้างค้าง 24,000 บาท และอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าชดเชย 24,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 31 มีนาคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 บัญญัติว่า “ค่าจ้าง หมายความว่า เงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ และหมายความรวมถึงเงินหรือเงินและสิ่งของที่จ่ายให้ในวันหยุดซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานและในวันลาด้วย ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณ หรือจ่ายเป็นการตอบแทนในวิธีอย่างไร และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร” บทบัญญัติดังกล่าวมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ข้อ คือ ข้อแรก ค่าจ้างนั้นมิได้คำนึงว่าจะมีชื่อเรียกว่าอย่างไร ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีวิธีการจ่ายโดยกำหนดหรือคำนวณอย่างไร ข้อที่สองค่าจ้างนั้นต้องเป็นเงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ลูกจ้าง มิใช่จ่ายผ่านมือลูกจ้างไปยังผู้อื่น และข้อที่สาม ค่าจ้างนั้นนายจ้างจ่ายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน ค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ในชื่อค่าครองชีพ แม้จะไม่เรียกค่าจ้าง แต่ก็มิใช่สาระสำคัญที่จะวินิจฉัยว่าเป็นค่าจ้างหรือไม่ ตามหลักเกณฑ์ข้อแรก ค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารนั้นเป็นเงินที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างให้แก่โจทก์เป็นประจำ จำนวนแน่นอน โดยไม่ต้องนำใบเสร็จค่าน้ำมันมาเบิก อันเป็นการจ่ายให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามหลักเกณฑ์ข้อที่สอง และจำเลยจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหาร เพื่อเป็นการชดเชยค่าน้ำมันรถยนต์ให้แก่ผู้บริหารที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวเพื่อการงานของจำเลยอันเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานของโจทก์ตามหลักเกณฑ์ข้อที่สาม ค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์จึงเป็นค่าจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน และต้องนำมาเป็นฐานเพื่อคำนวณค่าชดเชย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อสองของจำเลยว่าจำเลยต้องจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยออกประกาศจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์ให้แก่ผู้บริหาร อันเป็นประกาศที่จำเลยกำหนดขึ้นฝ่ายเดียว แต่ประกาศดังกล่าวนี้เป็นคุณแก่ลูกจ้าง จึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีผลบังคับใช้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 20 การที่จำเลยออกประกาศลดค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารและออกประกาศเลิกจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารเพียงฝ่ายเดียว แม้โจทก์และลูกจ้างของจำเลยจะมิได้คัดค้าน แต่ก็มิได้ตกลงยินยอมให้จำเลยลดหรือเลิกการจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารดังกล่าว ประกาศของจำเลยทั้งสองฉบับดังกล่าวขัดแย้งกับประกาศและไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าย่อมไม่มีผลใช้บังคับ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารจำนวนตามข้อตกลงเดิม ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าน้ำมันรถยนต์สำหรับผู้บริหารส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.