แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ค่าจ้างที่จะนำมาคำนวณค่าทำงานในวันหยุดตามข้อ 39แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานหมายถึงค่าจ้างทุกประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงาน ซึ่งรวมทั้งเงินเดือนและค่าครองชีพที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นประจำด้วย นายจ้างจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ลูกจ้างเพิ่มขึ้นแต่เฉพาะเบี้ยเลี้ยงตามระเบียบของนายจ้างหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยได้ให้โจทก์ทำงานในวันหยุดโดยมิได้จ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้โจทก์เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าของค่าจ้างในวันทำงานตามปกติ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมีระเบียบว่าด้วยผลประโยชน์และรายได้ของพนักงานเก็บค่าโดยสารกำหนดให้จ่ายเบี้ยเลี้ยงในวันหยุดตามประเพณีวันละ 18 บาท จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินให้โจทก์ตามฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดรวม 958.98 บาทแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ค่าจ้างที่จะนำมาคำนวณค่าทำงานในวันหยุดตามข้อ 39 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 หมายถึงค่าจ้างทุกประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงาน ซึ่งรวมทั้งเงินเดือนและค่าครองชีพที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นประจำด้วย โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานปกติอยู่แล้ว เมื่อจำเลยให้โจทก์ทำงานในวันหยุด จำเลยก็ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของค่าจ้างในวันทำงานแก่โจทก์ เงินเดือนและค่าครองชีพที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นค่าจ้างในวันทำงานจึงต้องนำมาคำนวณค่าทำงานในวันหยุดด้วย จำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้โจทก์เพิ่มขึ้นแต่เฉพาะเบี้ยเลี้ยงตามระเบียบผลประโยชน์และรายได้ “มหานครขนส่ง” ฉบับที่ 2 ว่าด้วยผลประโยชน์ และรายได้ของพนักงานเก็บค่าโดยสาร พุทธศักราช 2519 (ระบบที่ 2) หาได้ไม่
พิพากษายืน