แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันภายหลังใช้ ป.พ.พ.บรรพ 5 ต่อมาได้ตกลงทำหนังสือหย่ากันไว้โดยความยินยอมทั้ง 2 ฝ่าย และมีพยานลงลายมือชื่อ 2 คนถูกต้องตาม ม.1498 วรรค 2 แต่จำเลยบิดพริ้วไม่ยอมไปจดทะเบียนการหย่า ตาม ม.1499 โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนการหย่าเพื่อความสมบูรณ์ตาม ม.1499 ได้ และถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ก็ให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาตาม ป.พ.พ.มาตรา 213
ถ้าผัวเมียสมรสกันก่อนใช้ ป.พ.พ.บรรพ 5 หนังสือหย่านี้จะใช้ได้สมบูรณ์ทันทีในขณะได้ทำหนังสือสัญญาหย่านี้เสร็จ
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2500)
ย่อยาว
เรื่อง ผิดสัญญาหย่า เรียกทรัพย์คืน
โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์จำเลยเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จดทะเบียนสมรสเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๖ ระหว่างอยู่กิน จำเลยประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงหลายประการ และแล้วได้ทิ้งร้างโจทก์ไปอยู่กับภรรยาใหม่ ไม่ให้ความอุปการะเลี้ยงดู โจทก์ได้ เลี้ยงบุตร (๕ คน) ฝ่ายเดียวตลอดมา โจทก์จำเลยจึงได้ทำหนังสือหย่าขาดจากกันและนัดวันไปจดทะเบียนการหย่า แบ่งสินสมรสและแบ่งการปกครองบุตรครั้นถึงกำหนดวันไปจดทะเบียนการหย่า จำเลยแกล้งบิดพริ้วไม่ไป ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน หรือบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าขาดกับโจทก์ กับให้จำเลยชำระเงินค่าทรัพย์ตามฟ้อง ๓๔,๐๐๐ บาทให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยรับว่าได้ทำหนังสือหย่าไว้จริง
โจทก์จำเลยต่างไม่สืบพยาน ขอให้ศาลวินิจฉัยหนังสือหย่าว่า จะใช้ได้ตามกฎหมายหรือไม่
ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนหย่าให้โจทก์ภายใน ๗ วัน ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาตาม ป.พ.พ.มาตรา ๒๑๓ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ได้ความว่าโจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสเป็นสามีภรรยากันภายหลังการใช้ ป.พ.พ.บรรพ ๕ ได้ตกลงทำหนังสือหย่ากันไว้โดยความยินยอมทั้งสองฝ่ายถูกต้องตาม ม.๑๔๙๘ แต่ยังมิได้จดทะเบียนการหย่านั้น ตามที่บังคับไว้ใน มาตรา ๑๔๙๙
ที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าหนังสือหย่านี้ใช้ได้ตาม มาตรา ๑๔๙๘ วรรค ๒ แห่ง ป.พ.พ.เพราะคู่หย่าได้ทำหนังสือหย่านี้ขึ้นไว้โดยความยินยอมทั้งสองฝ่ายและมีพยานลงลายมือชื่อ ๒ คนครบถ้วนบริบูรณ์ ถ้าผัวเมียคู่นี้สมรสกันก่อนใช้ ป.พ.พ.บรรพ ๕ หนังสือหย่านี้จะใช้ได้สมบูรร์ทันทีในขณะที่ได้ทำหนังสือหย่านี้เสร็จ หากแต่ผัวเมียคู่นี้สมรสกันภายหลังการใช้ ป.พ.พ.บรรพ ๕ ซึ่งบัญญัติถึงการมีทะเบียนสมรสไว้แล้ว ฉะนั้นการหย่าจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีภรรยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว หมายความว่าคู่หย่าจะต้องไปจดทะเบียนการหย่าเสียจึงจะเป็นการสมบูรณ์ โจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ไปจดทะเบียนหย่าได้
พิพากษากลับศาลอุทธรณ์ ยืนตามคำพิพากษาศาลแพ่ง