แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
บันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีข้อความว่า “วันที่ 23 ธันวาคม 2539 ได้มี ป. ผู้ขับขี่รถยนต์เก๋ง และ ว. ผู้ขับขี่รถยนต์กระบะ มาพบเพื่อเจรจาค่าเสียหาย ที่ตกลงกันได้ คือ ป. ได้เรียกร้องให้ ว. ซ่อมรถที่ได้รับความเสียหายให้อยู่ในสภาพเดิม และ ว. ยอมตกลงตามข้อเสนอทุกประการ” เอกสารดังกล่าวไม่มีข้อความระบุถึงค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กายรวมทั้งมิได้ระบุถึงค่าเสียหายอื่นๆ ที่โจทก์ทั้งสองพึงได้รับชดใช้จากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏข้อความให้เห็นด้วยว่าคู่กรณีตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่หรือจะมีขึ้นโดยยอมสละข้อเรียกร้องอื่นทั้งสิ้น หรือข้อความว่าโจทก์ทั้งสองไม่ประสงค์จะฟ้องร้องจำเลยทั้งสองทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อไป บันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ มูลหนี้ละเมิดระหว่างโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ระงับ จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ชนรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 จนได้รับความเสียหาย และโจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 273,500 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าขาดผลประโยชน์ในอัตราวันละ 300 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะซ่อมแซมรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 จนใช้การได้ตามปกติ
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองทิ้งฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจารสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 74,445 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างต่อโจทก์ทั้งสอง เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย และรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหาย คงมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า บันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 อันทำให้มูลหนี้ที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองระงับไปและมีผลให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 หลุดพ้นความรับผิดตามฟ้องหรือไม่ ตามบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีข้อความว่า เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2539 ได้มีพันตรีประเสริฐ ฝั่งชลจิตร ผู้ขับขี่รถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน ข – 0575 นครศรีธรรมราช นายวิทยา ศุปการ ผู้ขับขี่รถยนต์กระบะคันหมายเลขทะเบียน ผ – 2819 สงขลา ได้มาพบพนักงานสอบสวนผู้แจ้งเพื่อเจรจาค่าเสียหาย ปรากฏว่าตกลงกันได้ คือ 1. พันตรีประเสริฐและนายเสถียรได้เรียกร้องให้นายวิทยาซ่อมรถที่ได้รับความเสียหายให้อยู่ในสภาพเดิม (ปรากฏตามบันทึกตรวจสภาพรถของพนักงานสอบสวน) 2. นายวิทยาตกลงตามข้อเสนอของนายประเสริฐและนายเสถียรทุกประการโดยได้นำรถไปซ่อมตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2539 แล้ว จากข้อความดังกล่าว เห็นว่า เป็นเพียงเอกสารที่พันตรีประเสริฐ โจทก์ที่ 2 ตกลงให้นายวิทยาจำเลยที่ 1 นำรถยนต์คันที่เสียหายไปซ่อมให้อยู่ในสภาพตามเดิมโดยมีแต่รายการความเสียหายของรถตามบันทึกการตรวจสภาพรถของพนักงานสอบสวน เอกสารดังกล่าวไม่มีข้อความระบุถึงค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 2 พึงได้รับจากการที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย รวมทั้งมิได้ระบุถึงค่าเสียหายอื่นๆ ที่โจทก์ทั้งสองพึงได้รับชดใช้จากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เช่น ค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ที่ถูกกระทำละเมิด ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถตามปกติของรถคันที่ถูกกระทำละเมิดของโจทก์ทั้งสอง นอกจากนี้เอกสารดังกล่าวไม่ปรากฏข้อความให้เห็นด้วยว่าคู่กรณีตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่หรือจะมีขึ้นโดยยอมสละข้อเรียกร้องอื่นทั้งสิ้น หรือข้อความที่ว่าโจทก์ทั้งสองไม่ประสงค์จะฟ้องร้องจำเลยทั้งสองทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อไป บันทึกรายงานประจำวันดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ มูลหนี้ละเมิดระหว่างโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ระงับ จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2539 อันเป็นวันละเมิดไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองนั้น จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9