แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 3 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้มีกองทุนเงินทดแทนขึ้นในกรมแรงงาน กำหนดให้เงินสมทบที่นายจ้างจ่ายและเงินอื่น ๆ ที่ประกอบเป็นกองทุนเงินทดแทนตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมแรงงาน กรณีที่ นายจ้างไม่ยอมจ่ายเงินสมทบหรือจ่ายไม่ครบ ก็ให้อธิบดีกรมแรงงานมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของนายจ้างได้ และตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับเดียวกันดังกล่าวก็บัญญัติให้มีสำนักงานกองทุนเงินทดแทนในกรมแรงงาน เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับกองทุนเงินทดแทนและให้มีคณะกรรมการเรียกว่าคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ดังนี้ สำนักงานกองทุนเงินทดแทนก็คือหน่วยงานหนึ่งของกรมแรงงานจำเลยนั้นเอง การปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน จึงถือว่าเป็น การกระทำของจำเลย ฉะนั้นการที่คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการกระทำของจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนและขอให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนได้ โจทก์เป็นพนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและได้รับคำสั่งจากนายจ้างให้เป็นนักฟุตบอลเพื่อแข่งขันกีฬาระหว่างธนาคาร โดยมีระเบียบของนายจ้างว่าการแข่งขันกีฬาและการฝึกซ้อมกีฬาของพนักงานเป็นการปฏิบัติงานของธนาคาร จึงถือได้ว่าการฝึกซ้อมเพื่อแข่งขันกีฬาของโจทก์เป็นการทำงานให้นายจ้างตามคำสั่งของนายจ้าง เพราะการเล่นกีฬาย่อมก่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่พนักงานและมีพลานามัย แข็งแรงเป็นประโยชน์แก่การทำงานให้แก่นายจ้าง การที่โจทก์ประสบอันตรายในการฝึกซ้อมฟุตบอลจึงเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง แม้นายจ้างของโจทก์ได้จ่ายเงินสมทบกองทุนทดแทนประเภทกิจการสถาบันทางการเงินไม่ได้จ่ายตามประเภทกิจการบันเทิงและการกีฬาก็ตาม จำเลยก็ไม่หลุดพ้น จากความรับผิดในการจ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้รับค่าจ้างเดือนละ 2,140 บาท ค่าครองชีพเดือนละ400 บาท ค่าเบี้ยเลี้ยงวันละ 100 บาท จำเลยเป็นกรมในรัฐบาล มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับกองทุนเงินทดแทน โดยมีคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเป็นผู้ปฏิบัติงาน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2531นายจ้างโจทก์แต่งตั้งโจทก์เป็นนักฟุตบอลเข้าแข่งขันกีฬาของธนาคารระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2531 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2531 ซึ่งตามระเบียบของนายจ้างการฝึกซ้อมกีฬาถือว่าเป็นการปฏิบัติงาน เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2531 เวลาประมาณ 17.15 นาฬิกา โจทก์ได้ฝึกซ้อมฟุตบอลและประสบอันตรายกระดูกหน้าแข่งซ้ายหักในขณะฝึกซ้อม ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2531 ถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2531 และต้องหยุดพักรักษาตัวที่บ้านตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2531 ถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2531 โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ในวันดังกล่าวรวม 65 วัน แพทย์แนะนำให้ผ่าตัดจัดกระดูกใหม่ ต้องพักรักษาตัวอีกประมาณ 180 วัน รวมระยะเวลาที่โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติงานได้จำนวน 245 วัน โจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกเงินทดแทนที่สำนักงานแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ พนักงานเงินทดแทนวินิจฉัยว่า โจทก์มิได้ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างโจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนวินิจฉัยว่า โจทก์มิได้ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างตามหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ ที่ มท.111/5510ลงวันที่ 10 มีนาคม 2532 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 โจทก์เห็นว่าโจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากทำงานให้นายจ้างและมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากจำเลย โจทก์ไม่สามารถทำงานได้มีกำหนด 145 วัน คิดเป็นค่าทดแทน 27,145 บาท ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยตามหนังสือที่มท.1111/5510 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2532 และให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนจำนวน 27,145 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรนายจ้างโจทก์ได้ลงทะเบียนจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนประเภทกิจการสถาบันทางการเงิน รหัส 1601 มิได้ลงทะเบียนจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนประเภทกิจการบริการบันเทิงและการกีฬา รหัส 1614แต่อย่างใด โจทก์ทำงานให้นายจ้างในตำแหน่งหน้าที่พนักงานบริหารทั้วไป (ขับรถ 2) อันเป็นการทำงานตามประเภทกิจการสถาบันทางการเงินโจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากฝึกซ้อมกีฬาฟุตบอล ไม่ถือว่าโจทก์ได้รับอันตรายแก่กายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างตามประเภทกิจการที่นายจ้างได้ลงทะเบียนจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน จำเลยไม่ได้เป็นผู้วินิจฉัยคำร้องเรื่องเงินทดแทนของโจทก์ และไม่ได้เป็นผู้ปฏิเสธไม่จ่ายเงินทดแทนให้โจทก์ แต่คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเป็นผู้วินิจฉัย จำเลยไม่ได้กระทำการอย่างใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย โจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ3,125 บาท หากโจทก์มีสิทธิได้รับเงินทดแทน โจทก์จะได้รับเงินทดแทนอัตราร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือนเดือนละ 1,875 บาท โจทก์ประสบอันตรายไม่ได้ทำงานเพียงสามเดือน คงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนไม่เกิน 5,625 บาทเท่านั้น ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ในวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย โจทก์ส่งเอกสารหมาย จ.1 ถึงจ.13 และจำเลยส่งเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.7 ตามลำดับต่อศาลแรงงานกลางโจทก์จำเลยต่างแถลงยอมรับความถูกต้องของเอกสารที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งส่งศาล โจทก์และจำเลยยังแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า ถ้าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินทดแทน (ที่ถูกคือค่าทดแทน) โจทก์มีสิทธิได้รับจำนวน 5,625 บาท ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานทั้งสองฝ่าย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ที่ มท.1111/5510 ให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์จำนวน 5,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 11 เมษายน 2532) จนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2531 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสาขาบุรีรัมย์นายจ้างโจทก์ได้แต่งตั้งโจทก์เป็นนักกีฬาฟุตบอลเพื่อเข้าแข่งขันกีฬาของธนาคารกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่1 กรกฎาคม 2531 ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2531 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม2531 โจทก์ประสบอันตรายในขณะฝึกซ้อมจนกระดูกหน้าแข้งซ้ายหัก โจทก์เรียกร้องเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน พนักงานเงินทดแทนวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนเพราะไม่ได้ประสบอันตรายเนื่องจากทำงานให้นายจ้าง โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีคำวินิจฉัยยืนตาม
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์เรื่องค่าทดแทนของโจทก์ตามที่จำเลยกล่าวอ้างในอุทธรณ์ แต่เมื่อพิจารณาถึงที่มาของกองทุนเงินทดแทนแล้ว ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103ข้อ 3 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้มีกองทุนเงินทดแทนขึ้นในกรมแรงงาน เพื่อเป็นทุนให้มีการจ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างแทนนายจ้าง และยังกำหนดให้เงินสมทบที่นาจ้างจ่ายและเงินอื่น ๆ ที่ประกอบเป็นกองทุนเงินทดแทนตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมแรงงานโดยไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลัง ในกรณีที่นายจ้างไม่ยอมจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนหรือจ่ายไม่ครบ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 10 วรรคหนึ่งยังให้อำนาจแก่อธิบดีกรมแรงงานมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ยึดอายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของนายจ้างได้ จึงเห็นได้ว่า อำนาจหน้าที่ที่แท้จริงในการเรียกเก็บเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนและผู้เป็นเจ้าของกองทุนเงินทดแทนคือกรมแรงงานจำเลย แม้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบการจ่ายเงินทดแทนของสำนักงาน กองทุนเงินทดแทน และการอุทธรณ์ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2516 กำหนดให้สำนักงานกองทุนเงินทดแทนมีหน้าที่ในการเรียกเก็บเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนจากนายจ้างและจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้าง สำนักงานกองทุนเงินทดแทนก็คือหน่วยงานหนึ่งของจำเลยนั่นเอง เพราะประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103ข้อ 3 วรรคสอง บัญญัติให้มีสำนักงานกองทุนเงินทดแทนในกรมแรงงานเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับกองทุนเงินทดแทน และให้มีคณะกรรมการเรียกว่าคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ดังนั้น การปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนก็ดีของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนก็ดีถือว่าเป็นการกระทำของจำเลย การที่คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ จึงเป็นการกระทำการของจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยขอให้ศาลเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนและขอให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนได้ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปที่ว่า นายจ้างของโจทก์จ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนประเภทกิจการสถาบันทางการเงิน รหัส 1601 ไม่ใช่ประเภทกิจการบันเทิงและการกีฬา รหัส 1614 โจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากการฝึกซ้อมกีฬาฟุตบอล จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนและการประสบอันตรายของโจทก์ไม่เกี่ยวกับการทำงานเพราะนายจ้างของโจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์ในการเล่นกีฬานั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาทั้งสองพร้อมกันไป พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราและวิธีเรียกเก็บเงินสมทบการจ่ายเงินทดแทนของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน และการอุทธรณ์(ฉบับที่ 2) ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2518 กำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนตามอัตราเงินสมทบในตารางที่ 1ท้ายประกาศนั้น โดยกำหนดประเภทกิจการเป็นรหัสและอัตราเงินสมทบแตกต่างกัน เพื่อจะเรียกเก็บเงินสมทบมากน้อยตามประเภทกิจการที่มีความเสี่ยงไม่เท่ากันในการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ทั้งนี้พิจารณาตามสภาพการทำงานปกติของลูกจ้างในประเภทกิจการนั้น ๆ การกำหนดประเภทกิจการและรหัสจึงไม่ใช่เป็นการจำกัดความรับผิดว่า ถ้าลูกจ้างไม่ได้ประสบอันตรายเพราะการทำงานปกติหรือตามวัตถุประสงค์ของนายจ้างแล้ว สำนักงานกองทุนเงินทดแทนของจำเลยก็ไม่ต้องจ่ายเงินทดแทน เพราะประเภทกิจการอย่างหนึ่งของนายจ้างอาจจะมีงานอื่น ๆ นอกเหนือจากสภาพการทำงานปกติของลูกจ้างรวมอยู่ด้วยเช่นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร นายจ้างของโจทก์จ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนตามตารางที่ 1 รหัส 1601 ประเภทกิจการสถาบันทางการเงิน ไม่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการขนส่งหรือขับรถ แต่โจทก์ทำหน้าที่เป็นพนักงานขับรถยนต์ของนายจ้าง ไม่เกี่ยวกับการทำงานทางการเงิน หากโจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากขับรถยนต์ให้นายจ้าง จำเลยจะปฏิเสธไม่จ่ายเงินทดแทนโดยอ้างว่าไม่เกี่ยวกับการทำงานทางการเงินตามวัตถุประสงค์ของนายจ้างหาได้ไม่ ด้วยเหตุผลอย่างเดียวกันเมื่อนายจ้างของโจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์เป็นนักกีฬาฟุตบอล เพื่อแข่งขันกีฬาระหว่างธนาคาร และระเบียบของนายจ้างเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 20 ถือว่าการแข่งขันกีฬาและการฝึกซ้อมกีฬาของพนักงานเป็นการปฏิบัติงานของธนาคาร จึงถือได้ว่าการฝึกซ้อมเพื่อแข่งขันกีฬาฟุตบอลของโจทก์เป็นการทำงานให้นายจ้างตามคำสั่งของนายจ้าง เพราะการเล่นกีฬาย่อมก่อให้เกินความสามัคคีในหมู่พนักงาน และมีพลานามัยแข็งแรงเป็นประโยชน์แก่การทำงานให้แก่นายจ้างการที่โจทก์ประสบอันตรายในขณะฝึกซ้อมฟุตบอลจึงเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง แม้นายจ้างของโจทก์ได้จ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนประเภทกิจการสถาบันทางการเงิน ไม่ได้จ่ายตามประเภทกิจการบริการบันเทิงและการกีฬาตามที่จำเลยอุทธรณ์ จำเลยก็หาหลุดพ้นจากความรับผิดในการจ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์ไม่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์ชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน.