คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2839/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

บันทึกตกลงช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระหว่างจำเลยกับ ม. มีข้อความระบุว่าจำเลยตกลงนำรถยนต์ของ ม. ซึ่งเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้ไปทำการตรวจซ่อมให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ และตกลงช่วยเหลือเป็นค่าสินไหมให้แก่ ม. ที่ได้รับบาดเจ็บตอนท้ายมีข้อความว่า คู่กรณีไม่มีการเรียกร้องหรือฟ้องร้องค่าเสียหายใดอันเกิดจากเรื่องนี้อีกทั้งทางแพ่งและอาญา ซึ่งคู่กรณีโดย ม. และจำเลยได้ลงลายมือชื่อในบันทึกดังกล่าว ถือเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และพฤติการณ์หลังเกิดเหตุที่โจทก์มอบให้ ม. ไปตกลงกับจำเลยเรื่องค่าซ่อมรถและค่าเสียหายและโจทก์ยอมรับบันทึกดังกล่าว จึงฟังได้ว่าโจทก์ได้เชิดให้ ม. เป็นตัวแทนของโจทก์ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โจทก์จึงสิ้นสิทธิที่จะเรียกร้องในมูลละเมิดจากจำเลย คงได้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 852

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 382,850 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 346,550 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่าบันทึกตกลงช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระหว่างจำเลยกับนายมนู วรรณารักษ์ ตามเอกสารหมาย จ.8 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งมีผลให้ความรับผิดของจำเลยที่มีต่อโจทก์ในมูลละเมิดระงับสิ้นไปหรือไม่ ตามบันทึกตกลงช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเอกสารหมาย จ.8 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับโจทก์คดีนี้มีข้อความระบุว่าจำเลยตกลงนำรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ป – 1033 ลำปาง ของนายมนู ซึ่งเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้ไปทำการตรวจซ่อมให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ โดยจะทำการซ่อมให้เสร็จภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่รับรถไปจากพนักงานสอบสวน และตกลงช่วยเหลือเป็นค่าสินไหมให้แก่นายมนูที่ได้รับบาดเจ็บเป็นเงินจำนวน 10,000 บาท กับเป็นค่าสิ่งของที่นายมนูซื้อนำมากับรถและได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวน 10,000 บาท และตอนท้ายมีข้อความว่า คู่กรณีจะไม่มีการเรียกร้องหรือฟ้องร้องค่าเสียหายใดอันเกิดจากเรื่องนี้อีกทั้งทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งคู่กรณีโดยนายมนูและจำเลยได้ลงลายมือชื่อในบันทึกดังกล่าว แม้เอกสารหมาย จ.8 จะระบุว่าเป็นบันทึกตกลงช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อความตามบันทึกดังกล่าวแล้ว เห็นว่า เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 ซึ่งนายมนูผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีจากโจทก์เบิกความว่า หลังเกิดเหตุจำเลยได้ทำบันทึกตกลงว่าจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่พยานตามเอกสารหมาย จ.8 และโจทก์เบิกความว่า หลังทราบข่าวรถชน โจทก์รีบเดินทางไปที่เกิดเหตุแต่ไม่พบนายมนูพบแต่รถยนต์ของโจทก์ โจทก์มอบให้นายมนูไปตกลงกับจำเลยเรื่องค่าซ่อมรถและค่าเสียหายตามบันทึกเอกสารหมาย จ.8 และโจทก์ยอมรับบันทึกดังกล่าว ทั้งโจทก์และนายมนูยังเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า ได้มอบให้จำเลยนำรถยนต์ของโจทก์ไปซ่อมที่อู่ในกรุงเทพมหานคร โจทก์และนายมนูเคยไปดูรถที่อู่เห็นรถจอดทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ได้ซ่อม ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์ได้เชิดให้นายมนูเป็นตัวแทนของโจทก์ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามบันทึกเอกสารหมาย จ.8 โจทก์จึงสิ้นสิทธิที่จะเรียกร้องในมูลละเมิดจากจำเลย คงได้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ข้ออื่นเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share