คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4752/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยในข้อหาฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 และข้อหาจัดหางานให้คนหางานไปทำงานที่ต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 30,82 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และยกฟ้องความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ ซึ่งโจทก์มิได้อุทธรณ์ ความผิดทั้งสองฐานจึงถึงที่สุด โจทก์จะฎีกาว่าจำเลยกระทำผิดสองฐานนี้อีกไม่ได้ และเมื่อฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยเกินกว่า 3 เดือน นับแต่วันดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามมาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(6) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยและนายกอบพล แก่นทอง กับพวกที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้องร่วมกันกระทำความผิดโดยทุจริตหลอกลวงประชาชนทั่วไปด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ประกาศโฆษณาเผยแพร่ข่าวแก่ประชาชนว่า จำเลยกับพวกสามารถจัดส่งคนหางานไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นได้ โดยต้องเสียค่าสมัครและค่าบริการต่าง ๆซึ่งเป็นเท็จ เพราะความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่มีความสามารถที่จะจัดส่งคนงานไปทำงานที่ประเทศดังกล่าวได้ ด้วยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้นายแก้วมูล วงศ์ขัติย์นายมืด งามจิต นายศิริชัย กาเมืองลือ นายอัครพล เผ่าดี และนายศรีจันทร์ ขัติยะผู้เสียหายทั้งห้าหลงเชื่อไปสมัครงานกับจำเลยและพวก และเป็นเหตุให้บุคคลที่สามเสียเงินแทนผู้เสียหายทั้งห้าให้แก่จำเลยกับพวกและจำเลยยังกระทำความผิดเนื่องจากมิได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนตามกฎหมายได้จัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ โดยเรียกและรับค่าบริการจากคนหางานดังกล่าวข้างต้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 343 พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30, 82 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่นางแสงไรวงศ์ขัติย์ จำนวน 170,000 บาท นายอนันต์หรือน้อย วงศ์ขัติย์ จำนวน 80,000 บาทนายมูล ใฝ่ใจ จำนวน 100,000 บาท นายศรี ใฝ่ใจ จำนวน 100,000 บาท นายใจ ใฝ่ใจจำนวน 50,000 บาท นายบุญมา กาเมืองลือ จำนวน 40,000 บาท นางจันทร์แก้วนามจิต จำนวน 40,000 บาท นายเลิศหรือเดิน เผ่าดี จำนวน 250,000 บาท นายหน้อยหรือน้อย ขัติยะ จำนวน 130,000 บาท นายศรี ขัติยะ จำนวน 50,000 บาท และนางบุญทา เผ่าดี จำนวน 100,000 บาท ซึ่งบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลที่สามได้รับความเสียหายเนื่องจากได้ชำระเงินแทนผู้เสียหายทั้งห้าไปตามฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ให้จำคุก 1 ปี คำเบิกความของจำเลยในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่นางแสงไร วงศ์ขัติย์ จำนวน170,000 บาท นายอนันต์หรือน้อย วงศ์ขัติย์ จำนวน 80,000 บาท นายมูล ใฝ่ใจ จำนวน100,000 บาท นายศรี ใฝ่ใจ จำนวน 100,000 บาท นายใจ ใฝ่ใจ จำนวน 50,000บาท นายบุญมา กาเมืองลือ จำนวน 40,000 บาท นางจันทร์แก้ว นามจิต จำนวน40,000 บาท นายเลิศหรือเดิน เผ่าดี จำนวน 250,000 บาท นายหน้อยหรือน้อย ขัติยะจำนวน 130,000 บาท นายศรี ขัติยะ จำนวน 50,000 บาท และนางบุญทา เผ่าดีจำนวน 100,000 บาท ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยว่ากระทำความผิดในข้อหาฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 และข้อหาจัดหางานให้คนหางานไปทำงานที่ต่างประเทศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528 มาตรา 30, 82 นั้น ขาดอายุความหรือไม่ ซึ่งการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนเป็นยุติว่า เมื่อนายกอบพล แก่นทอง และจำเลยไม่สามารถจัดส่งผู้เสียหายทั้งห้ากับคนหางานอื่น ๆ เดินทางไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นได้ตามที่ตกลงไว้ ผู้เสียหายทั้งห้าจึงเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมที่จังหวัดพะเยาและรออยู่จนถึงวันที่ 6 มกราคม 2536 จึงทราบว่านายกอบพลหลบหนีไป การที่ผู้เสียหายทั้งห้าถูกนายกอบพลหลอกลวงนั้นเกิดจากมูลเหตุสืบเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยด้วยต่อมาจำเลยได้ยอมรับผิดชดใช้เงินแก่คนหางาน 5 คน ที่จำเลยเป็นผู้ติดต่อจัดหางานเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2536 เห็นว่า แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยในข้อหาฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 และข้อหาจัดหางานให้คนหางานไปทำงานที่ต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางานพ.ศ. 2528 มาตรา 30, 82 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และยกฟ้องความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานไปทำงานที่ต่างประเทศโดยมิได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30, 82 โจทก์มิได้อุทธรณ์ว่าจำเลยกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้ ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จะฎีกาว่าจำเลยกระทำผิดในความผิดสองฐานนี้อีกไม่ได้ ข้อเท็จจริงคงรับฟังได้แต่เพียงว่า จำเลยกระทำผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 348ผู้เสียหายทั้งห้าต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ผู้เสียหายทั้งห้ารู้ว่านายกอบพลซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่วมกระทำผิดกับจำเลยได้หลบหนีไปเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2536 และรู้ว่าจำเลยยอมรับผิดชดใช้เงินแก่คนหางาน 5 คน ที่จำเลยเป็นผู้ติดต่อจัดหางานเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2536 แสดงว่าผู้เสียหายทั้งห้ารู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดอย่างช้าตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2536 แต่ผู้เสียหายทั้งห้าโดยสำนักงานจัดหางานจังหวัดพะเยาผู้ดำเนินการแทนได้ร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีแก่จำเลยต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2537 ซึ่งเกินเวลาสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(6) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5พิพากษายกฟ้องมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share