คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2966-2968/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างได้กำหนดเรื่องการปรับขึ้นเงินประจำปีหรือค่าจ้างไว้ชัดเจนว่าเป็นการปรับให้เฉพาะพนักงานทั่วไปเท่านั้น ไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับการปรับขึ้นเงินประจำปีหรือค่าจ้างของพนักงานระดับผู้บังคับบัญชาหรือเทียบเท่าหรือระดับเจ้าหน้าที่ แม้ต่อมาจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างกับสหภาพแรงงานจะทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอีก 3 ฉบับ แต่ก็มิได้เพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงให้มีข้อตกลงเกี่ยวกับการปรับขึ้นเงินประจำปีหรือค่าจ้างพนักงานระดับอื่นนอกจากระดับพนักงานทั่วไปที่มีอยู่เดิมแต่อย่างใด จึงยังคงมีแต่ข้อตกลงเกี่ยวกับการปรับขึ้นเงินประจำปีหรือค่าจ้างของพนักงานทั่วไปที่มีอยู่เดิมแต่อย่างใด จึงยังคงมีแต่ข้อตกลงเกี่ยวกับการปรับขึ้นเงินประจำปีหรือค่าจ้างของพนักงานทั่วไปเท่านั้น เมื่อโจทก์ทั้งสามมิได้เป็นพนักงานทั่วไปแต่เป็นพนักงานระดับผู้บังคับบัญชาจึงไม่อาจอ้างข้อตกลงเกี่ยวกับการปรับขึ้นเงินประจำปีหรือค่าจ้างในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเพื่อปรับขึ้นค่าจ้างสำหรับตนเองได้
การกำหนดประเด็นข้อพิพาทในคดีแรงงานเป็นเพียงเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินกระบวนพิจารณาเท่านั้น ส่วนการวินิจฉัยคดีย่อมต้องเป็นไปตามข้ออ้างและข้อเถียงของคู่ความ คดีนี้โจทก์ที่ 1 และที่ 3 บรรยายฟ้องและมีคำขอบังคับเรื่องเงินเพิ่มดังกล่าวมาด้วย จึงชอบที่ศาลแรงงานกลางจะต้องวินิจฉัยปัญหาเรื่องเงินเพิ่มด้วย จะไม่รับวินิจฉัยโดยอ้างว่ามิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ไม่ได้
การที่นายจ้างจะต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่มเพราะเหตุไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างนั้นตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 9 วรรคสอง จะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างจงใจไม่จ่ายโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเหตุที่จำเลยไม่ปรับขึ้นค่าจ้างและไม่จ่ายค่าครองชีพให้โจทก์ที่ 1 และที่ 3 เพราะจำเลยอ้างว่าไม่มีความผูกพันที่จะต้องจ่ายเงินดังกล่าวเนื่องจากโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เป็นพนักงานระดับผู้บังคับบัญชา จึงไม่ใช่เป็นการจงใจไม่จ่ายโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ว่าโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยไม่ปรับค่าจ้างประจำปี 2545 และ 2546 ซึ่งโจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับการปรับระดับเกรดเอ และไม่จ่ายค่าครองชีพกับเบี้ยขยันแก่โจทก์ทั้งสามโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ขอให้บังคับจำเลยปรับค่าจ้างและจ่ายค่าครองชีพแก่โจทก์ทั้งสาม พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีของค่าจ้างและเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าของเงินค่าครองชีพที่ค้างจ่ายในแต่ละงวด กับให้จำเลยจ่ายเบี้ยขยันแก่โจทก์ทั้งสามตั้งแต่โจทก์ทั้งสามเข้าทำงานกับจำเลยจนถึงวันฟ้องและตลอดไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์ทั้งสามขอถอนฟ้องในส่วนเบี้ยขยันและโจทก์ที่ 2 ขอถอนฟ้องในส่วนค่าครองชีพด้วย ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าครองชีพให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 คนละ 13,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และยกฟ้องโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามข้อแรกว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับการปรับค่าจ้างตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นไป ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือไม่เห็นว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย ล.1 ได้กำหนดเรื่องการปรับขึ้นเงินประจำปีหรือค่าจ้างไว้ในข้อ 2.4 และระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นการปรับขึ้นเงินประจำปีหรือค่าจ้างให้เฉพาะพนักงานทั่วไปเท่านั้น โดยพนักงานทั่วไปเกรดเอจะได้ปรับเป็นเงิน 500 บาท เกรดบีเป็นเงิน 450 บาท และเกรดซีเป็นเงิน 400 บาท ไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับการปรับขึ้นเงินประจำปีหรือค่าจ้างของพนักงานระดับผู้บังคับบัญชาหรือเทียบเท่าหรือระดับเจ้าหน้าที่ แม้ต่อมาจำเลยกับสหภาพแรงงานจะทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอีก 3 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 แต่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างทั้ง 3 ฉบับ ดังกล่าวก็มิได้เพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงให้มีข้อตกลงเกี่ยวกับการปรับขึ้นเงินประจำปีหรือค่าจ้างของพนักงานระดับอื่นนอกจากระดับพนักงานทั่วไปที่มีอยู่เดิมในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย ล.1 แต่อย่างใด และในข้อ 3.ข, 3.2 และ 3.2 ของเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 ตามลำดับ ยังระบุไว้ทำนองเดียวกันอีกว่า “ข้อตกลงหรือข้อบังคับเกี่ยวกับสภาพการจ้างใดที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโดยข้อตกลงฉบับนี้ให้มีผลบังคับต่อไปตลอดอายุของข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับนี้” ดังนั้น ข้อตกลงหรือข้อบังคับเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3 จึงยังคงมีแต่ข้อตกลงเกี่ยวกับการปรับขึ้นเงินประจำปีหรือค่าจ้างของพนักงานทั่วไปเท่านั้น โจทก์ทั้งสามมิได้เป็นพนักงานทั่วไปจึงไม่อาจอ้างข้อตกลงเกี่ยวกับการปรับขึ้นเงินประจำปีหรือค่าจ้างในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.2 ตามที่อุทธรณ์มาเพื่อปรับขึ้นค่าจ้างสำหรับตนเองได้…
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ข้อต่อไปมีว่า จำเลยต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าของค่าครองชีพค้างจ่ายให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 หรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า จำเลยต้องรับผิดจ่ายค่าครองชีพแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 เป็นค่าครองชีพที่มีลักษณะการจ่ายทำนองเดียวกับค่าจ้างจึงเป็นการจ่ายตอบแทนการทำงานในระยะเวลาการทำงานปกติ จำเลยจึงต้องรับผิดพร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปี ส่วนเงินเพิ่มเนื่องจากจงใจไม่จ่ายโดยปราศจากเหตุอันสมควรนั้น ศาลไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้จึงไม่วินิจฉัย เห็นว่า ในคดีแรงงาน การกำหนดประเด็นข้อพิพาทก็เป็นเพียงเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินกระบวนพิจารณาเท่านั้น ส่วนการวินิจฉัยคดีย่อมเป็นไปตามข้ออ้างและข้อเถียงของคู่ความ คดีนี้โจทก์ที่ 1 และที่ 3 บรรยายฟ้องและมีคำขอบังคับเรื่องเงินเพิ่มดังกล่าวมาด้วย จึงชอบที่ศาลแรงงานกลางจะต้องวินิจฉัยปัญหาเรื่องเงินเพิ่มด้วย การที่ศาลแรงงานกลางไม่รับวินิจฉัยด้วยข้ออ้างว่ามิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อย่างไรก็ตามแม้ตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางจะแปลความได้ว่า ศาลแรงงานกลางฟังว่าค่าครองชีพที่จำเลยไม่จ่ายให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 เป็นค่าจ้างส่วนหนึ่งก็ตาม แต่การที่จำเลยจะต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่มเพราะเหตุไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 นั้น ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคสอง จะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างจงใจไม่จ่ายโดยปราศจากเหตุอันสมควร เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเหตุที่จำเลยไม่ปรับขึ้นค่าจ้างและไม่จ่ายค่าครองชีพให้โจทก์ที่ 1 และที่ 3 เพราะจำเลยอ้างว่าไม่มีความผูกพันที่จะต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์ที่ 1 และที่ 3 เนื่องจากโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เป็นพนักงานระดับผู้บังคับบัญชาไม่อาจเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานแอคคูชเน็ตได้ และปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เป็นพนักงานระดับผู้บังคับบัญชาจึงไม่มีสิทธิได้ปรับขึ้นเงินเดือน ข้อต่อสู้ของจำเลยจึงมีเหตุผลอันสมควร ดังนั้น การที่จำเลยไม่จ่ายค่าครองชีพให้โจทก์ที่ 1 และที่ 3 จึงไม่ใช่เป็นการจงใจไม่จ่ายโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share