แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและมิใช่ผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย ได้ร่วมกันออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทจำกัดรวม 5 บริษัท ต่างกัน ทั้งจำเลยทั้งสองได้ออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มของแต่ละบริษัทดังกล่าวต่างวาระกันอีกด้วย ถือได้ว่าเป็นการกระทำต่างกรรมต่างเจตนากัน จึงเป็นความผิด 5 กรรม ต่างกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกอีกหนึ่งคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและมิใช่เป็นผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย ได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันกล่าวคือ เมื่อระหว่างวันที่ 12 พฤศจิกายน 2538 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 24กุมภาพันธ์ 2540 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมสำเนาของบริษัททุนเนอร์มานน์ จำกัด จำนวน 239 ฉบับเป็นมูลค่าสินค้า 26,753,947 บาท เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,827,776.28 บาทเมื่อระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2538 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2540เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมสำเนาของบริษัทเค.ซี.บี.เทรด จำกัด จำนวน 260 ฉบับ เป็นมูลค่าสินค้า31,247,119.75 บาท เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 2,187,298.37 บาท เมื่อระหว่างวันที่1 พฤศจิกายน 2538 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2540 เวลากลางวันต่อเนื่องกันจำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมสำเนาของบริษัทเดย์โทนา จำกัด จำนวน 254 ฉบับ เป็นมูลค่าสินค้า 31,556,883.40 บาทเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 2,208,981.82 บาท เมื่อระหว่างวันที่ 2 พฤศจิกายน 2539เวลากลางวัน ถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2540 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมสำเนาของบริษัทเบสท์ คอนซูมจำกัด จำนวน 202 ฉบับ เป็นมูลค่าสินค้า 19,949,127.20 บาท เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม1,396,438.90 บาท และเมื่อระหว่างวันที่ 2 พฤศจิกายน 2539 เวลากลางวันถึงวันที่ 11 มีนาคม 2540 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมสำเนาของบริษัทลัคกี้ ยูสเซอร์ จำกัด จำนวน186 ฉบับ เป็นมูลค่าสินค้า 17,908,426.81 บาท เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,255,087.47 บาท ทั้งนี้ โดยจำเลยทั้งสองกับพวกไม่มีสิทธิที่จะออกใบกำกับภาษีดังกล่าวได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทต่าง ๆ ดังกล่าวโดยไม่มีสิทธิจะออกรวมเป็นมูลค่าสินค้าทั้งหมด127,415,504.16 บาท รวมเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้น 8,920,582.85 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77/1, 86/13, 90/4(3) ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 83, 31 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลรัษฎากรมาตรา 77/1, 86/13, 90/4(3) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุก กระทงละ 4 ปี รวมจำคุกคนละ 20 ปีจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงจำคุกคนละ 10 ปี ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองตามฟ้องเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่โจทก์ฟ้องมีเจตนากระทำความผิดอย่างเดียวกัน จึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์ฟ้องและจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและมิใช่ผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายร่วมกันออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัททุนเนอร์มานน์ จำกัด บริษัท เค.ซี.บี.เทรด จำกัด บริษัทเดย์โทนา จำกัด บริษัทเบสท์ คอนซูม จำกัด และบริษัทลัคกี้ ยูสเซอร์ จำกัด รวม 5 บริษัทต่างกัน ทั้งจำเลยทั้งสองได้ออกใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มของแต่ละบริษัทดังกล่าวต่างวาระกันอีกด้วยถือได้ว่าเป็นการกระทำต่างกรรมต่างเจตนากันการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด 5 กรรม และลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปจึงชอบแล้ว และเห็นว่าจำเลยทั้งสองมีอาชีพทนายความเป็นผู้มีความรู้ทางกฎหมาย กลับมากระทำความผิดโดยไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายทั้งการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองเป็นบ่อเกิดความเสียหายต่อเงินภาษีที่รัฐจัดเก็บ นับเป็นภัยต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของประเทศชาติ เป็นความผิดร้ายแรงที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว
พิพากษายืน