แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ธนาคารแห่งประเทศไทยผู้คัดค้านตรวจสอบพบว่า ร. ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคาร ก. ได้ร่วมกับพวกยักยอกทรัพย์ของธนาคารดังกล่าวไป ซึ่งเป็นการต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาตามที่ระบุไว้ ในมาตรา 46 นว (1) แห่ง พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ทั้งเมื่อพนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้อง ร. กับพวกในข้อหาดังกล่าวแล้ว ร. ได้หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ ผู้คัดค้านเห็นว่าหากปล่อยเนิ่นช้าไปอาจเกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน ผู้คัดค้านจึงมีคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 46 ทศ แห่ง พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 อายัดตั๋วสัญญาใช้เงินกับหุ้นพิพาทของ ร. อันเป็นมาตรการป้องกันมิให้ ร. ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของตนเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกบังคับอายัดทรัพย์หรือขายทอดตลาดนำมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ หรือโอนทรัพย์สินหรือสิทธิตามเอกสารสิทธิต่าง ๆ ของตนเปลี่ยนมือไปให้แก่บุคคลอื่นโดยมิชอบ อันอาจส่งผลให้เจ้าหนี้ทั้งปวงกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่น ๆ ที่ ร. เป็นหนี้อยู่ได้รับความเสียหายและถูกกระทบกระเทือน เพราะเหตุการกระทำทุจริตของ ร. ดังกล่าว คำสั่งของผู้คัดค้านดังกล่าวย่อมเป็นคำสั่งที่สั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อผู้ร้องยังมิได้ฟ้อง ร. เกี่ยวกับหนี้สินตามคำร้อง กรณีจึงไม่อาจฟังเป็นยุติได้ว่า ร. เป็นหนี้ผู้ร้องและมีข้อตกลงต่าง ๆ ระหว่างผู้ร้องกับ ร. ดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้คัดค้านที่อายัดทรัพยสินของ ร. ดังกล่าวได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยผู้คัดค้านได้ตรวจสอบพบว่าเมื่อครั้งระหว่างวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ ถึงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๓๘ นายราเกซ สักเสนา ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกับบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของธนาคารดังกล่าว กระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ของธนาคารเป็นเงิน ๑,๖๕๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท อันเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ในหมวด ๕ ของลักษณะ ๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒, ๓๕๓, ๓๕๔ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๖ นว (๑) แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ต่อมาผู้คัดค้านมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของนายราเกซกับพวกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๖ ทศ แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และได้แจ้งคำสั่งอายัดไปยังธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ทุกแห่ง กรมที่ดิน กรมการขนส่งทางบก นายทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย มีกำหนดเวลา ๑๘๐ วัน ต่อมาพนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องนายราเกซกับพวก ตามข้อกล่าวหาดังกล่าว แต่นายราเกซหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ ยังไม่ได้ตังมาฟ้องต่อศาล ผู้คัดค้านจึงได้ยี่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอขยายระเวลาอายัดทรัพย์สินของนายราเกซออกไปจนกว่าจะได้ตัวมาฟ้อง ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีมีเหตุจำเป็นไม่สามารถฟ้องคดีได้ภายใน ๑๘๐ วัน ศาลจึงมีคำสั้งให้ขยายระยะเวลาออกไปอีกจนกว่าจะได้ตัวนายราเกซมาฟ้องคดีต่อศาลหรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการอายัดตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทเงินทุนยูเนี่ยนไฟแนนซ์ จำกัด (มหาชน) เลขที่ ๙๕๐๐๒๖๑๘๓-๑๑ จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และหุ้นบริษัทฟินิคส์ เพาส์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) จำนวน ๑๓๒,๕๐๐ หุ้น เพื่อผู้ร้องสามารถโอนเงินและดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินและนำหุ้นดังกล่าวออกขายนำมา หักชำระแก่ผู้ร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า การที่ผู้คัดค้านมีคำสั่งอายัดตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทกับหุ้นบริษัทฟินิคส์ เพาส์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) ตามคำร้องเป็นการชอบด้วยมาตรา ๔๖ ทศ แห่ง พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๔๖ บัญญัติว่า “ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(๑) ในการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ กรรมการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในธนาคารพาณิชย์กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ตามบทบัญญัติในหมวด ๑ หมวด ๓ หมวด ๔ หมวด ๕ หรือหมวด ๗ ของลักษณะ ๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญา
” กรณีพิพาทนี้ได้ความว่า ก่อนที่ผู้คัดค้านมีคำสั่งอายัดตั๋วสัญญาใช้เงินกับหุ้นพิพาท ดังกล่าวเนื่องจากผู้คัดค้านตรวจสอบพบว่านายราเกซซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ของ ธนาคารกรุงเทพนพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกับพวกยักยอกทรัพย์ของธนาคารดังกล่าวไปจำนวน ๑,๖๕๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นการต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๔๖ นว (๑) แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ดังกล่าว ทั้งเมื่อพนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องนายราเกซกับพวกในข้อหาดังกล่าวแล้ว นายราเกซได้หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศและผู้คัดค้านเห็นว่าหากปล่อยเนิ่นช้าไปอาจเกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ของประชาชน ผู้คัดค้านจึงมีคำสั่งอายัดตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทที่นายราเกซเป็นเจ้าของกับหุ้นบริษัทฟินิคส์ เพาส์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) ของนายราเกซดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๖ ทศ แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานว่าบุคคลใดกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๖ นว และธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่าหากปล่อยเนิ่นช้าไปอาจเกิดความเสียหายแก่ประชาชนให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลนั้นหรือทรัพย์สินซึ่งตามกฎหมายถือได้ว่าเป็นบุคคลนั้น
” จากบทบัญญัติดังกล่าว เห็นได้ว่า คำสั่งของผู้คัดค้านที่สั่งอายัดตั๋วสัญญาใช้เงินกับหุ้นพิพาทของนายราเกซเป็นมาตรการป้องกันมิให้นายราเกซยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของตนเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกบังคับยึกทรัพย์หรือขายทอดตลาดนำมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ หรือโอนทรัพย์สินหรือสิทธิตามเอกสารสิทธิต่าง ๆ ของตนเปลี่ยนมือไปให้แก่บุคคลอื่นโดยมิชอบ อันอาจส่งผลให้ เจ้าหนี้ทั้งปวงกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่น ๆ ที่นายราเกซเป็นหนี้อยู่ได้รับความเสียหายและถูกกระทบกระเทือน เพราะ เหตุการกระทำทุจริตของนายราเกซดังกล่าว ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านมีคำสั่งอายัดตั๋วสัญญาใช้เงินกับหุ้นพิพาทดังกล่าวย่อมเป็นคำสั่งที่สั่งโดยชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนตามบทบัญญัติข้างต้นแล้ว มิใช่เป็นคำสั่งที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนดังที่ผู้ร้องอ้าง
ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่าผู้ร้องกับนายราเกซตกลงโอนสิทธิเรียกร้องตามตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นหนังสือไว้ล่วงหน้าและมีผลสมบูรณ์แล้ว จึงมีสิทธิร้องขอเพิกถอนคำสั่งอายัดได้ และถึงอย่างไรก็ตาม ผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนำตั๋วสัญญาใช้เงินย่อมมิสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น สำหรับหุ้นพิพาทผู้ร้องเป็นผู้ครอบครองหุ้นโดยมีหนี้อันเป็น คุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครอบครอง จึงมีสิทธิยึดหน่วงและบังคับให้ชำระหนี้แก่ผู้ร้องก่อนเช่นเดียวกัน ขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์สินพิพาทนั้น เห็นว่า ผู้ร้องยังมิได้ฟ้องนายราเกซเกี่ยวกับหนี้สินตามคำร้องแต่อย่างใด กรณีจึงไม่อาจฟังเป็นยุติได้ว่านายราเกซเป็นหนี้ผู้ร้องและมีข้อตกลงต่าง ๆ ระหว่างผู้ร้องกับนายราเกซดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง คดีไม่จำต้องวิจิจฉัยปัญหเกี่ยวกับสิทธิของผู้ร้องตามที่ผู้ร้องอ้างมาในฎีกาอีกต่อไป ดังนี้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้คัดค้านที่อายัดทรัพย์สินของนายราเกซได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน .