แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การวินิจฉัยคดีแพ่งเนื่องจากคดีอาชญา ต้องฟังข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีอาชญาเปนหลัก
ย่อยาว
เดิมจำเลยที่ ๑ ซึ่งเปนลูกจ้างจำเลยที่ ๒-๓ ถูกตำรวจนครบาลฟ้องหาว่าทำปืนลั่นถูกบุตร์โจทก์ตายโดยประมาท แต่ศาลฟังว่าจำเลยที่ ๑ มิได้มีความประมาท จึงให้ยกข้อหาของตำรวจนครบาลเสียโจทก์กลับมาฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากจำเลยและคู่ความขอให้ศาลวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามสำนวนคดีอาชญานั้นเพื่อชี้ขาดว่าจำเลยจะต้องรับผิดหรือไม่
ศาลแพ่งเห็นว่าการวินิจฉัยคดีทางแพ่งไม่ต้องถือเอาคำพิพากษาในคดีอาชญาที่ว่าจำเลยจะมีความผิดหรือไม่เปนข้อวินิจฉัย และฟังว่าจำเลยที่ ๑ มีความประมาทอย่างร้ายแรง และจำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ ตามประมวลแพ่ง ม.๔๒๕ – ๔๓๗ ส่วนจำเลยที่ ๓ ซึ่งเปนภรรยาจำเลยที่ ๒ ไม่ต้องรับผิดร่วมกับสามี ตัดสินให้จำเลยที่ ๑-๒ เสียสินไหมทดแทนให้โจทก์เปนเงิน ๔๐๐ บาท
ฎีกาตัดสินยืนตามศาลอุทธรณ์กลับศาลเดิมว่าตามกฎหมายอาชญา ม.๙๐ การวินิจฉัยคดีแพ่ง ต้องถือเอาความเท็จจริงในคำพิพากษาส่วนอาชญาเปนหลักและการที่ศาลวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๑ ไม่มีความประมาทนั้นเปนข้อเท็จจริง ผู้พิพากษาในคดีส่วนแพ่งจะวินิจฉัยจากคำพะยานว่าจำเลยมีความประมาทอีกนั้นไม่ได้ส่วนประมวลแพ่ง ม.๔๒๔ ก็บัญญัติขึ้นในลักษณอันเดียวกับกฎหมายอาชญา ม.๙๑ วรรคต้น ฉะนั้นเมื่อศาลฟังว่าจำเลยที่ ๑ มิได้ประมาทเลินเล่อแล้ว จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จึงให้ยกฟ้องเสีย