คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2840/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เช่าซื้อที่ดินจัดสรรจากจำเลย หลังจากรับเงินที่ผ่อนชำระแล้วจำเลยจึงนำที่ดินขายฝากผู้อื่นจนพ้นกำหนดไถ่คืน ทำให้ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ได้ ดังนี้ จำเลยมิได้หลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแต่อย่างใดเพราะการขายฝากกระทำหลังรับเงินจากโจทก์ จำเลยไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้ว เห็นว่ากระทำตามฟ้องไม่เป็นความผิดทางอาญา จึงมีคำสั่งให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 นั้น จะต้องมีการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นผู้หลอกลวงได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ แต่ตามฟ้องของโจทก์ปรากฏว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินจัดสรรจากจำเลย เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2521 ได้วางเงินในวันทำสัญญา 8,000 บาท และผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเรื่อยมาจนถึงวันที่ 23 กันยายน2521 รวมเงินที่ชำระให้จำเลยไป 31,000 บาท เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2524โจทก์ได้ตรวจสอบหลักฐานที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี จึงทราบว่าที่ดินที่จำเลยนำมาจัดสรรได้จดทะเบียนขายฝากไว้กับบุคคลผู้มีชื่อเมื่อวันที่ 16กรกฎาคม 2522 มีกำหนด 1 ปี และบัดนี้ได้ล่วงเลยเวลาดังกล่าวมาแล้วทำให้จำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ได้ เห็นได้ว่าขณะที่จำเลยได้รับเงินจากโจทก์ระหว่างวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2521 ถึงวันที่ 23 กันยายน 2521 นั้น จำเลยมิได้หลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแต่อย่างใด เพราะจำเลยเพิ่งขายฝากที่ดินเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2522 หลังจากได้รับเงินจากโจทก์ไว้แล้ว แม้ตามฟ้องของโจทก์ในตอนต้นจะบรรยายด้วยว่าจำเลยได้นำที่ดินไปขายฝากกับบุคคลอื่นเรื่อยมา ก็ไม่ปรากฏว่าขายฝากเมื่อใด เมื่อฟ้องตอนท้ายยืนยันว่าจำเลยขายฝากที่ดินเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2522 มีกำหนด 2 ปี ก็ย่อมหมายความว่า จำเลยขายฝากที่ดินเรื่อยมานับตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม2522 การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง”

พิพากษายืน

Share