แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พระราชบัญญัติควบคุมอาคารฯ มีบทลงโทษให้ปรับเป็นรายวัน โจทก์บรรยายฟ้องว่าเมื่อระหว่างวันที่ 1 ถึง 18 กันยายน 2524 จำเลยซึ่งได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ระงับการก่อสร้าง จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งโดยไม่ระงับการก่อสร้างภายในระยะเวลาดังกล่าว ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าจำเลยทราบคำสั่งวันใด และฝ่าฝืนคำสั่งวันใด จำเลยอาจทราบคำสั่งเมื่อวันที่ 18 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลาที่โจทก์กล่าวหาก็ได้ เมื่อโจทก์ไม่บรรยายว่าจำเลยฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นวันใด แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ก็ไม่มีทางลงโทษปรับจำเลยเป็นรายวันตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ คำฟ้องของโจทก์ไม่สมบูรณ์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 22, 40 วรรคแรก, 42, 65, 67, 69, 70 ลงโทษตาม มาตรา 22, 70 ปรับ 10,000 บาท ตาม มาตรา 40 วรรคแรก, 42, 67, 69 ปรับวันละ 1,000 บาท เป็นเวลา 18 วัน เป็นเงิน 18,000 บาทรวมปรับ 28,000 บาท รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 14,000 บาทศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 40 ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดดังกล่าว โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ‘คดีมีปัญหาว่าคำฟ้องฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่โจทก์ฟ้องมีบทลงโทษให้ปรับเป็นรายวันตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน ตามที่บัญญัตไว้ในมาตรา 67, 69 และ 70 โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานนี้ว่าเมื่อระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 18 กันยายน 2524 จำเลยซึ่งได้รับคำสั่งจากปลัดเมืองพัทยาในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งแจ้งให้จำเลยระงับการก่อสร้างและจำเลยได้รับทราบคำสั่งดังกล่าวแล้วจำเลยฝ่าฝืนคำสั่งโดยไม่ระงับการก่อสร้างภายในระยะเวลาดังกล่าว ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าจำเลยทราบคำสั่งวันใดและฝ่าฝืนคำสั่งวันใด การที่โจทก์กล่าวรวมกันมาทั้งวันทราบคำสั่งและวันฝ่าฝืนคำสั่งว่าอยู่ในระยะเวลาเดียวกันคือวันที่ 1 ถึงวันที่ 18 เช่นนี้ไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยฝ่าฝืนคำสั่งวันใด จำเลยอาจทราบคำสั่งเมื่อวันที่ 18 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลาที่โจทก์กล่าวหาจำเลยก็ได้ ความจริงแล้วโจทก์ยืนยันวันจำเลยทราบคำสั่งและฝ่าฝืนคำสั่งได้เพราะหลักฐานอยู่ที่ฝ่ายโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่บรรยายในคำฟ้องว่าจำเลยฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นวันใด แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่มีทางลงโทษปรับจำเลยเป็นรายวันตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ คำฟ้องของโจทก์จึงไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5)”
พิพากษายืน