คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2837/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 8(5) และ (9) เป็นแต่เพียงเหตุหนึ่งที่กฎหมายให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ล้มละลายได้เท่านั้น ส่วนการพิจารณาคดีล้มละลายตามฟ้องของโจทก์นั้น มาตรา 14ให้ศาลพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 และการที่ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ใดล้มละลายก็ไม่ใช่อาศัยแต่ลำพังข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายอย่างเดียวแต่ยังต้องพิเคราะห์ถึงเหตุผลอื่นมาประกอบที่พอแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยตกอยู่ในฐานะผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว การตัดรอนมิให้ศาลในคดีล้มละลายรับฟ้องพยานหลักฐานเพราะมิได้ส่งสำเนาให้โจทก์ก่อนสืบพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 ย่อมขัดต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 อันเป็นกฎหมายพิเศษที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องพิจารณาเอาความจริงให้ได้ว่าจำเลยเป็นบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจริงหรือไม่ ดังนั้นจำเลยจึงชอบที่จะเสนอพยานเอกสารดังกล่าวเพื่อให้ปรากฏความจริง ให้ศาลรับฟังได้แม้จะไม่ได้ส่งสำเนาให้โจทก์ก่อนสืบพยาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขแดงที่ 11829/2525 ซึ่งพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับนายวิโรจน์ ประยุทธมิ่งเจริญจำเลยอีกคนหนึ่งร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 447,347.09 บาทพร้อมดอกเบี้ย สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ร่วมกับจำเลยอื่นชำระเงินแก่โจทก์ 31,873.14 บาท พร้อมดอกเบี้ย เมื่อคดีดังกล่าวถึงที่สุด โจทก์ได้ขอเฉลี่ยทรัพย์จากจำเลยที่ 2 และที่ 3ในคดีหมายเลขแดงที่ 10117/2524 ของศาลชั้นต้น ได้เงินมาเพียง 29,075.45 บาท หลังจากนั้นจำเลยทั้งสามกับนายวิโรจน์ก็ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ เมื่อคำนวณยอดหนี้ถึงวันฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย 84,568.29 บาทจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหนี้โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย1,003,095.48 บาท โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระ โจทก์ติดตามสืบหาทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามแล้วปรากฏว่าไม่มีทรัพย์สินที่จะยึดมาชำระหนี้ได้ และจำเลยทั้งสามยังได้ปิดสถานประกอบธุรกิจและหลบหนีไปจากเคหสถาน อันแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสามไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 และที่ 3 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 11829/2525ของศาลชั้นต้น คิดถึงวันฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์จำนวนเงิน 84,568.29 บาท ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าก่อนฟ้องโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์2 ครั้ง มีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน ตามเอกสารหมายจ.6 ถึง จ.7 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ และยังให้พนักงานของโจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 แล้วแต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดอันจะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ ย่อมเข้าข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 1เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 8(5) และ (9) แล้วนั้นเห็นว่าข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวเป็นแต่เพียงเหตุหนึ่งที่กฎหมายให้อำนาจโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ล้มละลายได้เท่านั้น ส่วนการพิจารณาคดีล้มละลายตามฟ้องของโจทก์นั้น พระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 14 ให้ศาลพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 และการที่ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ใดล้มละลายก็ไม่ใช่อาศัยแต่ลำพังข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายอย่างเดียวแต่ยังต้องพิเคราะห์ถึงเหตุผลอื่นมาประกอบที่พอแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ตกอยู่ในฐานะผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเพราะการวินิจฉัยให้บุคคลล้มละลายนั้น ย่อมกระทบถึงสิทธิและเสรีภาพในการดำรงชีวิตตามกฎหมายตลอดจนสถานะบุคคลและสิทธิในทางทรัพย์สินของผู้นั้นโดยตรง เมื่อพิเคราะห์ข้อเท็จจริงในคดีนี้แล้วจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ 84,568.29 บาท ซึ่งเป็นจำนวนไม่มากนักและจำเลยที่ 1 เคยให้ทนายความมีหนังสือขอชำระหนี้แก่โจทก์โดยจะชำระในงวดแรกจำนวน 30,000 บาทส่วนที่เหลือขอผ่อนชำระเดือนละ 5,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.5แต่โจทก์ไม่ยินยอมโดยจะให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เต็มจำนวนในครั้งเดียว ตามเอกสารหมาย ล.6 ต่อมาจำเลยที่ 1ขอเสนอชำระหนี้แก่โจทก์เพียงครั้งเดียวในจำนวน 60,000 บาทตามเอกสารหมาย ล.7 และ ล.8 โจทก์ก็ไม่ยอม นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ได้นำเงินไปฝากไว้ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขาถนนพระรามที่ 2 เพื่อเตรียมจะชำระหนี้ให้โจทก์ตามเอกสารหมาย ล.9 และ ล.10 จึงเห็นได้ว่ามีความตั้งใจและสามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ สำหรับเงินฝาก แม้จำเลยที่ 1จะเพิ่งเปิดบัญชีและฝากเงินจำนวน 100,000 บาท ภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วก็ถือเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1ที่โจทก์อาจบังคับชำระหนี้ได้นอกจากนี้จำเลยที่ 1ยังเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทยูนิพาร์ท จำกัด จำนวน 5,000 หุ้นมูลค่าหุ้นละ 100 บาท โดยจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นกรรมการมีรายได้เดือนละ 20,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.4แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยังประกอบกิจการมีรายได้ อีกทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้บุคคลอื่นใดอีกจำเลยที่ 1จึงอยู่ในฐานะที่สามารถชำระหนี้ให้โจทก์ได้ ลำพังแต่ทางนำสืบของโจทก์ซึ่งได้ความตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าจำเลยที่ 1เปลี่ยนชื่อสกุลย้ายที่อยู่และจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้จากโจทก์แล้วรวม 2 ครั้ง โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นสนับสนุนให้เห็นถึงฐานะของจำเลยที่ 1 ว่าตกอยู่ในสภาพมีหนี้สินล้นพ้นตัวอย่างใด รูปคดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ที่โจทก์ฎีกาว่า เอกสารตามที่จำเลยที่ 1อ้างส่งศาลนั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งสำเนาให้แก่โจทก์ก่อนสืบพยานตามกฎหมาย จึงรับฟังไม่ได้นั้นเห็นว่าการตัดรอนมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวย่อมขัดต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 อันเป็นกฎหมายพิเศษที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องพิจารณาเอาความจริงให้ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจริงหรือไม่ ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงชอบที่จะเสนอพยานเอกสารดังกล่าวเพื่อให้ปรากฏความจริงตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวให้ศาลรับฟัง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share