แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามบันทึกข้อตกลงรับโอนหนี้ ระบุว่าทำที่ธนาคารโจทก์ในวันที่ 30 ธันวาคม 2541 มีเนื้อความตอนต้นว่า ตามที่บริษัท อ. และบริษัทจำเลยที่ 1 ต่างได้รับสินเชื่อไปจากธนาคารโจทก์ประเภทสกุลเงินบาทและเงินเหรียญสหรัฐนั้น บัดนี้บริษัททั้งสองมีความประสงค์จะขอโอนและรับโอนภาระหนี้ที่มีอยู่กับโจทก์ มีเนื้อความตอนต่อไปว่า ตามที่บริษัท อ. มีภาระหนี้กับโจทก์ สาขาฮ่องกง ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2541 รวมเป็นเงินจำนวน 1,287,046.95 ดอลลาร์สหรัฐ นั้น บริษัทจำเลยที่ 1 ขอรับโอนภาระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยดังกล่าวทั้งหมดที่บริษัท อ. มีอยู่กับโจทก์ ณ สาขาฮ่องกง มาเป็นหนี้ในนามของบริษัทจำเลยที่ 1 ณ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ และยินยอมให้โจทก์เปลี่ยนสกุลเงินจากเงินดอลลาร์สหรัฐ มาเป็นเงินบาท และในตอนท้ายระบุว่า บันทึกนี้ทำขึ้นเพื่อให้โจทก์ได้รับทราบถึงการที่จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ชำระหนี้แทนบริษัท อ. และมิให้ถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่แต่ประการใด ข้อเท็จจริงได้ความว่า บันทึกข้อตกลงดังกล่าวทำขึ้นที่ธนาคารโจทก์จริง ในวันทำบันทึกข้อตกลง บริษัท อ. และจำเลยที่ 1 ต่างก็ได้ลงนามในฐานะผู้โอนและผู้รับโอนไว้ ส่วนโจทก์ยังไม่ได้ลงนาม เพราะต้องมีการเสนอให้ลงนามไปตามลำดับชั้น เมื่อข้อตกลงดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ตกลงกับบริษัท อ. และโจทก์ โดยใจสมัครและไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งต่อมาก็ได้มีการลงนามโดยผู้มีอำนาจลงนามแทนโจทก์ บันทึกข้อตกลงการรับโอนหนี้ดังกล่าว จึงเป็นสัญญาชนิดหนึ่งที่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ตามกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงรับโอนหนี้ได้ ปัญหาว่า จำเลยที่ 1 ยังไม่ต้องรับผิดตามบันทึกข้อตกลงรับโอนหนี้เพราะหนี้ตามบันทึกข้อตกลงการรับโอนหนี้ยังไม่ถึงกำหนดระยะเวลานั้น จำเลยทั้งสี่มิได้ยกขึ้นเป็นประเด็นต่อสู้ในคำให้การและไม่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหยิบยกประเด็นข้อนี้มาเป็นเหตุหนึ่งในการวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงรับโอนหนี้ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา
ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันว่า จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ทั้งที่มีขึ้นแล้วก่อนทำสัญญาและภายหลังจากทำสัญญา รวม 13 ฉบับ และจำเลยที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ทั้งที่มีขึ้นแล้วก่อนทำสัญญาและภายหลังจากทำสัญญา รวม 11 ฉบับ เมื่อรวมวงเงินค้ำประกันของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จากทุกสัญญาดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าเกินกว่าหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทของจำเลยที่ 1 รวมกับหนี้ตามบันทึกข้อตกลงรับโอนหนี้ จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เต็มจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ทั้งที่มีขึ้นแล้วก่อนทำสัญญาและภายหลังจากทำสัญญา รวม 2 ฉบับ รวมวงเงิน 39,000,000 บาท และทำสัญญาจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ทั้งที่มีขึ้นแล้วก่อนทำสัญญาและภายหลังจากทำสัญญา รวม 3 ฉบับ รวมวงเงินทั้ง 3 สัญญา เป็นเงินจำนวน 24,000,000 บาท โดยตามสัญญาจำนองทั้ง 3 ฉบับ ดังกล่าว จำเลยที่ 2 ตกลงด้วยว่า หากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้ไม่พอชำระหนี้ให้โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย จำเลยที่ 2 ยอมให้ยึดทรัพย์สินอื่นชำระหนี้จนครบถ้วน ดังนั้น นอกเหนือจากที่โจทก์มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ที่จำนองในวงเงินต้นเงินรวม 24,000,000 บาท ดังกล่าวแล้ว โจทก์ยังมีบุคคลสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยที่ 2 ในวงเงินต้นเงินรวม 24,000,000 บาท ด้วย เมื่อรวมวงเงินต้นเงินที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองเป็นเงินทั้งสิ้น 63,000,000 บาท ซึ่งยังน้อยกว่าวงเงินต้นเงินตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทของจำเลยที่ 1 รวมกับหนี้ตามบันทึกข้อตกลงรับโอนหนี้จำนวน 67,394,972.55 บาท จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เพียงในวงเงินต้นเงินจำนวน 63,000,000 บาท พร้อมอุปกรณ์แห่งหนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันและแทนกันชำระเงินจำนวน ๘๗,๒๙๑,๓๓๘.๐๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๔.๕ ต่อปี จากต้นเงินจำนวน ๖๗,๓๙๔,๙๗๒.๕๕ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระให้บังคับจำนองนำทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินสุทธิที่ได้มาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาด นำเงินมาชำระแก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสี่ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน ๓๒,๕๕๗,๐๔๒.๑๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๔.๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๒๕,๒๗๙,๓๒๑.๐๖ บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๒๐,๐๐๐ บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งมีจำเลยที่ ๔ เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อชำระค่าสินค้าที่จำเลยที่ ๑ สั่งซื้อจากต่างประเทศ รวม ๓ ฉบับ โจทก์ได้ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตและชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ ๑ ไปจำนวน ๑๐๒,๘๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ๒๒๘,๘๒๕ ดอลลาร์สหรัฐ และ ๓๘,๐๐๐,๐๔๐ เยน ตามลำดับ เพื่อขอรับสินค้าไปก่อนชำระหนี้คืนโจทก์ จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาทรัสต์รีซีทให้ไว้แก่โจทก์รวม ๓ ฉบับ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ยังได้ทำบันทึกข้อตกลงการรับโอนหนี้กับบริษัท อ. ซึ่งเป็นบริษัทที่มีจำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๔ เป็นผู้ถือหุ้นและจำเลยที่ ๔ เป็นกรรมการบริษัท เพื่อรับโอนหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทของบริษัท อ. ที่มีต่อโจทก์มาเป็นหนี้ของจำเลยที่ ๑ ปรากฏตามบันทึกข้อตกลงการรับโอนหนี้ เอกสารหมาย จ. ๔๔ เพื่อเป็นประกันหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าวรวมทั้งหนี้อื่นที่จำเลยที่ ๑ มีต่อโจทก์ทุกชนิด จำเลยที่ ๒ ซึ่งมีจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน กับจำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๔ ได้ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ อย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ ๒ ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรวม ๓ แปลง ไว้กับโจทก์ เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ ๑ ที่มีอยู่กับโจทก์ในขณะนั้นหรือที่จะมีต่อไปในภายหน้า โดยตกลงด้วยว่าหากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้ไม่พอชำระหนี้ให้โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย จำเลยที่ ๒ ยอมให้ยึดทรัพย์สินอื่นชำระหนี้จนครบถ้วน เมื่อหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีททั้ง ๓ ฉบับ ครบกำหนดชำระ จำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสี่ชำระแต่จำเลยทั้งสี่ไม่ชำระ รวมหนี้ต้นเงินตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีททุกฉบับ และดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ เป็นเงินทั้งสิ้น ๓๒,๕๕๗,๐๔๒.๑๑ บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ รับผิดตามบันทึกข้อตกลงการรับโอนหนี้ เอกสารหมาย จ. ๔๔ หรือไม่ เห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ระบุว่าทำที่ธนาคารโจทก์ในวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๑ มีเนื้อความตอนต้นว่าตามที่บริษัท อ. และบริษัทจำเลยที่ ๑ ต่างได้รับสินเชื่อไปจากธนาคารโจทก์ประเภทสกุลเงินบาทและเงินเหรียญสหรัฐ นั้น บัดนี้บริษัททั้งสองมีความประสงค์จะขอโอนและรับโอนภาระหนี้ที่มีอยู่กับโจทก์ มีเนื้อความตอนต่อไปว่าตามที่บริษัท อ. มีภาระหนี้กับโจทก์ สาขาฮ่องกง ณ วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๑ รวมเป็นเงินจำนวน ๑,๒๘๗,๐๔๖.๙๕ ดอลลาร์สหรัฐ นั้น บริษัทจำเลยที่ ๑ ขอรับโอนภาระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยดังกล่าวทั้งหมดที่บริษัท อ. มีอยู่กับโจทก์ ณ สาขาฮ่องกง มาเป็นหนี้ในนามของบริษัทจำเลยที่ ๑ ณ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ และยินยอมให้โจทก์เปลี่ยนสกุลเงินจากเงินดอลลาร์สหรัฐ มาเป็นเงินบาท โดยคำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๑ คือ ๑ ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ ๓๖.๗๒ บาท รวมเป็นเงินจำนวน ๑,๒๘๗,๐๔๖.๙๕ ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับเงินไทยจำนวน ๔๗,๒๖๐,๓๖๔.๐๑ บาท และในตอนท้ายของบันทึกข้อตกลงมีเนื้อความว่า บันทึกนี้ทำขึ้นเพื่อให้โจทก์ได้รับทราบถึงการที่จำเลยที่ ๑ จะเป็นผู้ชำระหนี้แทนบริษัท อ. และมิให้ถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่แต่ประการใด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์กับจำเลยทั้งสี่รับกันด้วยว่า บันทึกข้อตกลงดังกล่าวทำขึ้นที่ธนาคารโจทก์จริง ในวันทำบันทึกข้อตกลง บริษัท อ. และจำเลยที่ ๑ ต่างก็ได้ลงนามในฐานะผู้โอนและผู้รับโอนไว้ ส่วนโจทก์ยังไม่ได้ลงนาม เพราะต้องมีการเสนอให้ลงนามไปตามลำดับชั้น กับจำเลยที่ ๔ ยังมิได้เบิกความยอมรับว่าบันทึกข้อตกลงรับโอนหนี้เอกสารหมาย จ. ๔๔ นั้น โจทก์เองเป็นผู้จัดทำขึ้นโดยได้มีการเจรจากันในระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๔ ด้วย เพราะจำเลยที่ ๔ นั้น เป็นทั้งกรรมการบริษัท อ. และบริษัทจำเลยที่ ๑ นอกจากนี้ยังปรากฏในแผ่นที่ ๓ ของบันทึกข้อตกลงดังกล่าวด้วยว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ต่างก็ได้ลงนามในฐานะผู้ค้ำประกันไว้ ทั้งจำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๓ ผู้มีอำนาจกระทำการแทนก็ได้ลงนามในฐานะผู้จำนองไว้ด้วย เห็นว่า เมื่อข้อตกลงดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๑ ตกลงกับบริษัท อ. และโจทก์ โดยใจสมัครและไม่ขัดต่อกฎหมาย หลังจากที่บริษัท อ. และจำเลยที่ ๑ ลงนามไว้แล้วก็ได้มอบบันทึกข้อตกลงดังกล่าวให้โจทก์ไว้เพื่อให้ผู้มีอำนาจของโจทก์ลงนาม แล้วต่อมาก็ได้มีการลงนามโดยผู้มีอำนาจลงนามแทนโจทก์ บันทึกข้อตกลงการรับโอนหนี้ เอกสารหมาย จ. ๔๔ จึงเป็นสัญญาชนิดหนึ่งที่มีผลผูกพันจำเลยที่ ๑ ตามกฎหมายแล้ว ฉะนั้น โจทก์จึงมีสิทธเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงการรับโอนหนี้ เอกสารหมาย จ. ๔๔ ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ รับผิดตามบันทึกข้อตกลงรับโอนหนี้เอกสารหมาย จ. ๔๔ นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยไว้ด้วยว่า จำเลยที่ ๑ ยังไม่ต้องรับผิดตามบันทึกข้อตกลงรับโอนหนี้เพราะหนี้ตามบันทึกข้อตกลงรับโอนหนี้ยังไม่ถึงกำหนดเวลาชำระหนี้นั้น เห็นว่า ปัญหาข้อนี้ จำเลยทั้งสี่มิได้ยกขึ้นเป็นประเด็นต่อสู้ในคำให้การและไม่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหยิบยกประเด็นข้อนี้มาเป็นเหตุหนึ่งในการวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงรับโอนหนี้ เอกสารหมาย จ. ๔๔ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดชำระหนี้จำนวน ๔๗,๒๖๐,๓๖๔.๐๑ บาท พร้อมค่าธรรมเนียมธนาคารจำนวน ๑,๐๐๐ บาท และดอกเบี้ยจากต้นเงินจำนวน ๔๒,๑๑๕,๖๕๑.๔๙ บาท นับแต่วันทำสัญญา มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันและจำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดในฐานะผู้จำนอง สำหรับหนี้ของจำเลยที่ ๑ ตามบันทึกข้อตกลงรับโอนหนี้ เอกสารหมาย จ. ๔๔ หรือไม่ เพียงใด ซึ่งปัญหานี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยอีก เห็นว่า จำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ ๑ ทั้งที่มีขึ้นแล้วก่อนทำสัญญาและภายหลังจากทำสัญญา รวม ๒ ฉบับ จำเลยที่ ๓ ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ ๑ ทั้งที่มีขึ้นแล้วก่อนทำสัญญาและภายหลังจากทำสัญญา รวม ๑๓ ฉบับ และจำเลยที่ ๔ ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ ๑ ทั้งที่มีขึ้นแล้วก่อนทำสัญญาและภายหลังจากทำสัญญา รวม ๑๑ ฉบับ เมื่อรวมวงเงินค้ำประกันของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จากทุกสัญญาดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าเกินกว่าหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทของจำเลยที่ ๑ รวมกับหนี้ตามบันทึกข้อตกลงรับโอนหนี้ดังกล่าว จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ เต็มจำนวนหนี้ที่จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๒ นั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ ๑ รวม ๒ สัญญา รวมวงเงิน ๓๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท และจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ ๑ ทั้งที่มีขึ้นแล้วก่อนทำสัญญาและภายหลังจากทำสัญญา รวม ๓ ฉบับ เป็นเงินจำนวน ๒๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยตามสัญญาจำนองทั้ง ๓ ฉบับ ดังกล่าว จำเลยที่ ๒ ตกลงด้วยว่า หากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้ไม่พอชำระหนี้ให้โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย จำเลยที่ ๒ ยอมให้ยึดทรัพย์สินอื่นชำระหนี้จนครบถ้วน ดังนั้น นอกเหนือจากที่โจทก์มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์ของจำเลยที่ ๒ ที่จำนอง ในวงเงินต้นเงินรวม ๒๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท ดังกล่าวแล้ว โจทก์ยังมีบุคคลสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยที่ ๒ ในวงเงินต้นเงินรวม ๒๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท ด้วย เมื่อรวมวงเงินต้นเงินที่จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองเป็นเงินทั้งสิ้น ๖๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งยังน้อยกว่าวงเงินต้นเงินตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทของจำเลยที่ ๑ รวมกับหนี้ตามบันทึกข้อตกลงรับโอนหนี้ จำนวน ๖๗,๓๙๔,๙๗๒.๕๕ บาท จำเลยที่ ๒ จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ เพียงในวงเงินต้นเงินจำนวน ๖๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมอุปกรณ์แห่งหนี้ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงการรับโอนหนี้ เป็นเงินจำนวน ๕๔,๗๓๔,๒๙๕.๙๗ บาท เมื่อรวมกับหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ชำระแก่โจทก์ จำนวน ๓๒,๕๕๗,๐๔๒.๑๑ บาท แล้ว เป็นเงินจำนวน ๘๗,๒๙๑,๓๓๘.๐๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๔.๕ ต่อปี จากต้นเงินตามบันทึกข้อตกลงรับโอนหนี้และจากต้นเงินตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีท รวมเป็นต้นเงิน จำนวน ๖๗,๓๙๔,๙๗๒.๕๕ บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับจำเลยที่ ๒ นอกจากหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ แล้ว ให้จำเลยที่ ๒ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ในหนี้ตามบันทึกข้อตกลงรับโอนหนี้ด้วย แต่ร่วมรับผิดเฉพาะในต้นเงินจำนวน ๓๗,๗๒๐,๖๗๘.๙๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวในอัตราต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในใบแจ้งยอดหนี้ นับแต่วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๑ จนถึงวันฟ้องและในอัตราเดียวกันกับที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ และที่ ๔ ต้องชำระนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.