คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2831/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีไว้เพื่อใช้ซึ่งเครื่องชั่งที่ผิดอัตรา และได้ใช้เครื่องชั่งนั้นในกิจการต่อเนื่องกับผู้อื่น ซึ่งต่างก็มีวัตถุประสงค์เพื่อเอาเปรียบในการค้าเช่นเดียวกัน จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ศาลล่างทั้งสองลงโทษเป็น 2 กระทง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๐, ๓๒, ๓๓, ๙๑ พระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. ๒๔๖๖ มาตรา ๓๑ เป็น ๒ กระทง ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๐ ทั้ง ๒ กระทง จำคุกกระทงละ ๕ เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ ๒ เดือน ๑๕ วัน รวมจำคุก ๕ เดือน ริบของกลางศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน ๕ ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ คู่ความฎีกาได้แต่เฉพาะข้อกฎหมายซึ่งจำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๐ เคลือบคลุม เพราะโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า บุคคลผู้เกี่ยวข้องเป็นใคร จำเลยเอาเปรียบในการค้าอย่างไร และบุคคลนั้นเสียหายเพียงใดพิเคราะห์แล้วตามบันทึกการฟ้องคดีด้วยวาจาของโจทก์ และบันทึกคำฟ้องแบบ (ข.๔) ของศาลมีข้อความว่า จำเลยบังอาจมีเครื่องชั่งที่ผิดอัตราเพื่อเอาเปรียบในการค้า โดยชั่งน้ำหนัก ๑ กิโลกรัม น้ำหนักจะขาดไป ๓๐๐ กรัมทำให้ผู้ขายได้เปรียบผู้ซื้อตามจำนวนที่ขาด ตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยบังอาจใช้เครื่องชั่งที่จำเลยมีไว้ชั่งของขายให้แก่ผู้ซื้อ ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๐ แล้ว แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องว่าผู้ซื้อเป็นใคร ก็ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปรากฏว่าศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดเป็นสองกรรมโดยให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๐ ทั้งสองกระทงและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยมีไว้เพื่อใช้ซึ่งเครื่องชั่งที่ผิดอัตราก็ดี และในขณะมีเครื่องชั่งดังกล่าวเพื่อใช้ จำเลยได้ใช้เครื่องชั่งนั้นในกิจการต่อเนื่องกับผู้อื่นก็ดี ต่างก็มีวัตถุประสงค์เพื่อเอาเปรียบในการค้าเช่นเดียวกัน ดังนั้น การที่จำเลยมีไว้เพื่อใช้และใช้เครื่องชั่งของกลางในลักษณะดังกล่าว จึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๐ พระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พระพุทธศักราช ๒๔๖๖ มาตรา ๓๑ เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๐ ฐานใช้เครื่องชั่งที่ผิดอัตรา อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก ๒ เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอันเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑ เดือน จำเลยเป็นหญิงมีบุตรที่จะต้องอุปการะหลายคน ไม่ปรากฏว่าเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนโทษที่จำเลยได้รับมีเพียงเล็กน้อย พิจารณาถึงสภาพแห่งความผิดแล้วเห็นควรให้โอกาสจำเลยสักครั้งหนึ่ง ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ริบของกลาง”

Share