แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
วิธีดำเนินการของสมาคมซึ่งถือว่าเป็นการประกอบธุรกิจประกันชีวิตแล้ว(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 3/2516 )
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๐๖ เวลากลางวันติดต่อไปจนถึงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๓ ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนจำเลยทั้งแปดได้ร่วมกันเป็นตัวการประกอบกิจการทำการเป็นผู้รับประกันภัยโดยทำสัญญาประกันชีวิตกับบุคคลทั่ว ๆ ไป (บรรยายวิธีดำเนินการของจำเลยทั้งแปด) ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๑๐มาตรา ๗, ๑๒, ๗๒, ๗๔, ๙๕, ๙๙ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓พระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน พ.ศ. ๒๔๗๐ มาตรา ๗, ๘ พระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๓ พระราชบัญญัติกำหนดกระทรวงเจ้าหน้าที่รักษาการตามพระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือผาสุกแห่งสาธารณชน พ.ศ. ๒๔๗๑ (ฉบับที่ ๓)พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๓ และขอให้สั่งให้จำเลยหยุดดำเนินการประกันชีวิต
จำเลยทั้งแปดให้การภาคเสธว่า การดำเนินการของจำเลยมิใช่เป็นการประกันภัยหรือประกันชีวิต จำเลยขาดเจตนาในการกระทำผิด
ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ได้หนึ่งปาก แล้วสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นผิดตามฟ้องพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดียังมีข้อเท็จจริงที่ยังโต้เถียงกันอยู่พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานทั้งสองฝ่ายในข้อเท็จจริงแล้วพิพากษาใหม่
จำเลยทั้งแปดฎีกา
คดีในชั้นฎีกาจึงมีปัญหาแต่เพียงว่า ข้อเท็จจริงเท่าที่ปรากฏตามท้องสำนวนจะพอวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่
ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามฟ้องโจทก์และคำให้การของจำเลยประกอบกับข้อความในหนังสือข้อบังคับของสมาคมจำเลยที่ ๑ รวมกัน ฟังได้ว่าสมาชิกตามข้อบังคับของสมาคมจำเลยที่ ๑ แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ สมาชิกสามัญสมาชิกตลอดชีพ และสมาชิกกิติมศักดิ์ สมาชิกสามัญจะต้องชำระค่าบำรุงให้แก่สมาคมปีละ ๑๐ บาท และต้องชำระเงินช่วยการกุศลแรกเข้าเป็นค่าช่วยเหลือการสร้างเตาอบ (เตาเผาศพ) กับชำระเงินค่าช่วยในการทำศพให้แก่สมาชิกที่ถึงแก่กรรมคนละ ๑๐ บาท เงินช่วยการกุศลแรกเข้านี้จำแนกอัตราการชำระออกได้ต่าง ๆ กันตามอายุของสมาชิก กล่าวคือ สมาชิกอายุ๒๐-๖๐ ปี ชำระ ๒๐ บาท สมาชิกอายุกว่า ๖๐ ปีขึ้นไปจนถึง ๖๕ ปี ชำระ๑๐๐ บาท ส่วนสมาชิกตลอดชีพไม่ต้องเสียค่าสงเคราะห์รายศพคงเสียแต่ค่าช่วยการกุศลแรกเข้าเท่านั้น โดยเสียตามหลักเกณฑ์ดังนี้สมาชิกอายุ ๒๐ ถึง ๔๐ ปี ชำระครั้งเดียว ๒,๐๐๐ บาท อายุกว่า ๔๐ ปีถึง ๖๐ ปีชำระครั้งเดียว ๒,๕๐๐ บาท อายุกว่า ๖๐ ปีถึง ๗๐ ปี ชำระครั้งเดียว ๔,๐๐๐ บาทสำหรับสมาชิกกิติมศักดิ์ไม่ต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมใด ๆ เลย เว้นแต่จะสมัครใจเอง ผู้ที่ยื่นใบสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกจะต้องชำระค่าธรรมเนียมแรกเข้าและค่าบำรุงปีแรกทันที แต่จะมีสิทธิและหน้าที่โดยสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อเวลาล่วงมานับจากวันที่สมาคมจำเลยที่ ๑ ลงชื่อรับในใบสมัครแล้วครบ ๓๐ วันสมาชิกทุกประเภทมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์จากสมาคมตามจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ทั้งหมดในวันที่สมาชิกถึงแก่กรรม แต่ให้เหรัญญิกหักเงินไว้ก่อนจ่ายร้อยละ๒๐ ของจำนวนเงินสงเคราะห์ทั้งหมด เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของสมาคมจำเลยที่ ๑ เจ้าภาพจัดการศพของสมาชิกผู้ถึงแก่กรรมมีหน้าที่ที่จะต้องรีบแจ้งให้เลขานุการของสมาคมจำเลยที่ ๑ ทราบ ส่วนเพื่อนสมาชิกที่ยังมีชีวิตอยู่จะต้องรีบส่งเงินสงเคราะห์ศพมาภายใน ๗ วันนับแต่วันที่ปรากฏในใบแจ้งความของจำเลยที่ ๑ สมาชิกที่ขาดจากสมาชิกภาพโดย๑. การลาออก ๒. ไม่ส่งเงินสงเคราะห์ศพ ๓. ประพฤติตนเป็นปฏิปักษ์หรือเป็นที่เสื่อมเสียแก่สมาคม และ ๔.ย้ายภูมิลำเนาไปโดยไม่แจ้งให้สมาคมทราบและไม่ติดต่อกับสมาคมจนสมาคมไม่สามารถติดต่อได้สมาชิกทั้ง ๔ ประเภทดังกล่าวแล้วนี้จะหมดสิทธิเรียกร้องใด ๆ จากสมาคมจำเลยที่ ๑ ทั้งสิ้น
ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า วิธีดำเนินการของจำเลยที่ ๑ตามที่ปรากฏในหนังสือข้อบังคับซึ่งโจทก์ส่งอ้างและจำเลยรับว่าถูกต้องนั้นถือได้แล้วว่าเป็นการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ ๑ อย่างหนึ่ง จากธุรกิจอันนี้จำเลยที่ ๑ ย่อมจะต้องได้รับผลประโยชน์เป็นรายได้สุทธิแน่นอนจากบรรดาสมาชิก คือ ค่าบำรุงคนละ ๑๐ บาทต่อปี นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายที่หักไว้ร้อยละ ๒๐ จากเงินสงเคราะห์ที่จำเลยที่ ๑ จะให้แก่ผู้จัดการศพของสมาชิกซึ่งถึงแก่กรรมนั้นก็ย่อมอาจจะใช้จ่ายไปไม่หมด ยังคงมีเหลืออยู่ด้วยบ้างก็ได้และเงินค่าธรรมเนียมแรกเข้าซึ่งอ้างว่าจะเอาไปทำเตาอบ (เตาเผาศพ)ก็เรียกเก็บอยู่ตลอดไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งย่อมจะเป็นการแน่นอนว่าเมื่อเตาอบนั้นสร้างเสร็จแล้ว เงินจำนวนนี้ก็ย่อมจะตกเป็นผลประโยชน์ของจำเลยที่ ๑ ทั้งหมดนั่นเอง จึงเป็นที่เห็นได้ว่า ถ้าหากจำเลยที่ ๑ดำเนินการไปตามข้อบังคับจริง และเมื่อใดมีผู้แสดงเจตนามาตกลงเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมจำเลยที่ ๑ แล้ว กรณีก็ย่อมถือได้ว่าได้มีการก่อให้เกิดสัญญาผูกพันขึ้นระหว่างผู้นั้นกับจำเลยที่ ๑ แล้ว และมีผลบังคับต่อกันได้ตามกฎหมาย หาใช่เป็นการช่วยเหลือกันระหว่างสมาชิกเพื่อการกุศลโดยไม่มีข้อผูกพันไม่ และสัญญาเช่นว่านี้ก็มีเงื่อนไขอยู่ว่าการที่จะใช้เงินให้แก่กันนั้นย่อมอาศัยความมรณะของบุคคลผู้เป็นสมาชิกหรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าสมาชิกคู่สัญญาตายลงเมื่อใด จำเลยที่ ๑ก็มีหน้าที่ที่จะจัดหาเงินมาให้แก่ทายาทผู้จัดการศพเป็นเงินจำนวนหนึ่งจำเลยที่ ๑ จะจัดหาเงินมาจากที่ไหนโดยวิธีใดนั้น หาเป็นข้อสำคัญไม่ฝ่ายสมาชิกก็ต้องถือว่าได้ยินยอมตกลงกับจำเลยที่ ๑ แล้วว่าจะส่งเงินในลักษณะเป็นเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยที่ ๑ ทั้งนี้ แล้วแต่ว่าจะเป็นสมาชิกประเภทใด ถ้าเป็นสมาชิกสามัญก็ต้องส่งเงินค่าบำรุงเป็นรายปี แต่ถ้าเป็นสมาชิกตลอดชีพก็ต้องชำระเป็นเงินจำนวนเดียว เมื่อแรกเข้ามาเป็นสมาชิกผลแห่งสัญญาเช่นว่านี้ย่อมจะเห็นได้ว่าถ้าสมาชิกตลอดชีพผู้ใดตายเร็วสมาคมจำเลยที่ ๑ ก็จะได้เงินผลประโยชน์มากขึ้น ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าสัญญาระหว่างจำเลยที่ ๑ กับบรรดาสมาชิกอันเกิดขึ้นตามข้อบังคับของจำเลยที่ ๑ก็ย่อมจะเข้าลักษณะเป็นสัญญาประกันชีวิตตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั่นเอง และโดยเหตุที่จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนเป็นสมาคม ไม่ใช่เป็นบริษัท จำกัด ฉะนั้น ถ้าหากจำเลยที่ ๑ ได้ประกอบธุรกิจตามข้อบังคับดังกล่าวข้างต้นเมื่อใด ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ ๑ ได้ประกอบธุรกิจการประกันชีวิตโดยได้รับผลประโยชน์แล้วศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าถ้าข้อเท็จจริงได้ความเช่นนั้นแล้ว การกระทำของจำเลยที่ ๑ อาจเป็นความผิดตามกฎหมายที่โจทก์ฟ้องได้ จึงยังมีความจำเป็นที่จะต้องฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่าจำเลยทั้งแปดได้ร่วมกันลงมือกระทำความผิดตามฟ้องเพียงใดหรือไม่
พิพากษายืน