คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2554/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นภริยาผ. จดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี2510ผ.จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทเมื่อปี2513ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับผ. และเป็นส่วนหนึ่งของสินบริคณห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1466,1462วรรคสองเดิมที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นเมื่อไม่ปรากฎว่ามีสัญญาก่อนสมรสระหว่างโจทก์กับผ. ตกลงกันเป็นอย่างอื่นผ. จึงเป็นผู้มีอำนาจจัดการที่ดินพิพาทซึ่งรวมถึงการจำหน่ายที่ดินพิพาทด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1468,1473วรรคหนึ่งเดิมแม้ภายหลังจะได้มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ5ที่แก้ไขใหม่ในปี2519พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2519มาตรา7ก็บัญญัติรับรองอำนาจจัดการสินสมรสของผ. ดังนั้นผ. เพียงผู้เดียวย่อมมีอำนาจจำหน่ายที่ดินพิพาทได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นภริยา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาของพันตำรวจโทผจญ เกษรางกูรหรือเกสรางกูรหรือเกษรางกูล จดทะเบียนสมรสเมื่อปี 2510เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2513 พันตำรวจโทผจญรับโอนมรดกที่ดินพิพาทที่ดินพิพาทจึงเป็นสินบริคณห์ระหว่างโจทก์กับพันตำรวจโทผจญครั้นวันที่ 12 มิถุนายน 2524 พันตำรวจโทผจญจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยเสน่หา โดยโจทก์ไม่รู้เห็นและไม่ยินยอมและจำเลยได้นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองต่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พันตำรวจโทผจญตายเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2529โจทก์ทราบเรื่องการโอนที่ดินพิพาทเมื่อเดือนเมษายน 2534 จึงมอบให้ทนายความมีหนังสือบอกล้างนิติกรรมให้โดยเสน่หาแล้ว นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆะ แต่จำเลยไม่ยอมคืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ขอให้พิพากษาว่า การจดทะเบียนให้โดยเสน่หาซึ่งที่ดินพิพาทเป็นโมฆะ ให้จำเลยไถ่ถอนจำนองที่ดินดังกล่าวแล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์คืนแก่โจทก์หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยโดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า พันตำรวจโทผจญและจำเลยเป็นบุตรของนายฮั้วและนางสอน เกษรางกูล เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2513พันตำรวจโทผจญรับโอนที่ดินพิพาทมรดกของนางสอนซึ่งยังไม่ได้แบ่งปันกันในระหว่างทายาทของนางสอนซึ่งมีบุตรรวม 10 คนที่ดินพิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมของทายาทนางสอนทั้ง 10 คนมิใช่ทรัพย์สินที่โจทก์และพันตำรวจโทผจญทำมาหาได้ร่วมกันเมื่อไม่มีสัญญาก่อนสมรสกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ภายหลังใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ที่แก้ไขแล้ว พันตำรวจโทผจญมีอำนาจจำหน่ายจ่ายโอนหรือทำนิติกรรมได้โดยไม่ต้องรับความยินยอมจากโจทก์ ดังนั้นโจทก์ไม่มีอำนาจบังคับให้โอนที่ดินพิพาทคืนเป็นสินสมรส พันตำรวจโทผจญขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย แต่จดทะเบียนให้โดยเสน่หาแก่จำเลยเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2524 เป็นการอำพรางการซื้อขายเพื่อลดเงินชำระค่าธรรมเนียมและภาษี จำเลยจึงรับโอนที่ดินพิพาทโดยเสียค่าตอบแทน ในวันจดทะเบียนโอนโดยเสน่หาให้แก่จำเลย โจทก์ก็ทราบ แต่โจทก์มิได้คัดค้านและไม่บอกล้างภายใน 1 ปีแต่โจทก์มาบอกล้างเมื่อเดือนเมษายน 2534 จึงขาดอายุความโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของพันตำรวจโทผจญ เกษรางกูล โดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2510 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2513 พันตำรวจโทผจญได้จดทะเบียนรับโอนมรดกของนางสอน เกสร้งกูรหรือเกสร้งกูลเป็นที่ดินโฉนดที่ 9513 ตำบลหนองเหียง อำเภอพนัสนิคมจังหวัดชลบุรี ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน 2524 พันตำรวจโทผจญได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้จำเลย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า พันตำรวจโทผจญมีอำนาจจำหน่ายที่ดินแปลงดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่พันตำรวจโทผจญได้มาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับพันตำรวจโทผจญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิมมาตรา 1466 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และเป็นส่วนหนึ่งของสินบริคณห์ตามมาตรา 1462 วรรคสอง เดิม เมื่อไม่ปรากฎว่ามีสัญญาก่อนสมรสระหว่างโจทก์กับพันตำรวจโทผจญตกลงกันเป็นอย่างอื่นพันตำรวจโทผจญจึงเป็นผู้มีอำนาจจัดการที่ดินพิพาทซึ่งรวมทั้งการจำหน่ายที่ดินพิพาทด้วย ตามมาตรา 1468, 1473 วรรคหนึ่ง เดิมแม้ภายหลังจะได้มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5ที่แก้ไขใหม่ในปี 2519 พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519มาตรา 7 ก็บัญญัติรับรองว่า “บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจการจัดการสินบริคณห์ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มีอยู่แล้วในวันใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ 5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ แต่ให้ถือว่าสินเดิมตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิมของฝ่ายใดเป็นสินส่วนตัวตามบทบัญญัติบรรพ 5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัติ นี้ของฝ่ายนั้น
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดเป็นผู้จัดการสินบริคณห์แต่ฝ่ายเดียว ให้ถือว่าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ยินยอมให้คู่สมรสฝ่ายนั้นจัดการสินสมรสและสินส่วนตัวตามวรรคหนึ่งของตนด้วย”
ดังนั้นพันตำรวจโทผจญเพียงผู้เดียวย่อมมีอำนาจจำหน่ายที่ดินพิพาทได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากพันตำรวจโทผจญ พันตำรวจโทผจญมีสิทธิทำสัญญาขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินบริคณห์ให้แก่จำเลยโดยไม่ต้องรับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1468 และ1473 วรรคหนึ่ง เดิม ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share