แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้างก่อสร้างอาคาร จำเลยให้การว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อตามสัญญาระบุให้สิ่งก่อสร้างรวมทั้งสัมภาระอุปกรณ์ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยผู้ว่าจ้างตั้งแต่นำเข้ามาในที่ก่อสร้าง จำเลยจึงมีส่วนได้เสียในอาคารพิพาท หากอาคารถูกปล่อยปละละเลยไม่มีผู้ดูแลรักษา ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์ส่วนได้เสียของจำเลย แม้จำเลยมิได้ฟ้องแย้งให้โจทก์ส่งมอบอาคาร จำเลยก็มีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยในระหว่างการพิจารณา เพื่อให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ดูแลรักษาอาคารในระหว่างการพิจารณาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 264 เมื่อโจทก์หยุดการก่อสร้างไปแล้ว และการที่จะให้จำเลยเข้าดูแลรักษาอาคารไม่กระทบถึงสิทธิส่วนได้เสียของโจทก์ ศาลจึงชอบที่จะมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเข้าเป็นผู้ดูแลรักษาอาคารพิพาทในระหว่างพิจารณา แต่ที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยเข้าดำเนินการทำประโยชน์และครอบครองอาคารโดยจำเลยมิได้ฟ้องแย้งและมีคำขอบังคับเช่นนั้น จึงไม่ชอบด้วย มาตรา 264
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าดำเนินการทำประโยชน์และครอบครองดูแลรักษาอาคารพิพาทตามคำร้องได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปรากฏตามคำฟ้องและคำให้การว่าโจทก์เป็นผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารโรงเรียนศูนย์ฝึกวิชาชีพวัดกษัตราธิราชวรวิหาร ซึ่งกระทำการก่อสร้างที่บริเวณวัดกษัตราธิราชวรวิหาร จำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นคู่สัญญาผู้ว่าจ้างโจทก์ตามภาพถ่ายสัญญาท้ายฟ้อง โดยเฉพาะสัญญาข้อ 4 ได้ระบุไว้ว่า”เนื่องจากพันธะซึ่งจะมีต่อกันตามสัญญานี้ผู้รับจ้างยินยอมให้บรรดาสิ่งก่อสร้างที่ผู้รับจ้างได้กระทำชั้นรวมทั้งสัมภาระอุปกรณ์การก่อสร้างที่ได้นำมาไว้ ณ สถานที่ที่ทำการก่อสร้างโดยเฉพาะเพื่อการก่อสร้างดังกล่าวในข้อ 1 ให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของผู้ว่าจ้างทั้งสิ้น” โดยผลแห่งสัญญาดังกล่าวนี้จำเลยที่ 2 ในฐานะที่เป็นผู้ว่าจ้างจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในอาคารโรงเรียนพิพาทในระหว่างการพิจารณา และหากอาคารโรงเรียนพิพาทถูกปล่อยปละละเลยไม่มีผู้ดูแลรักษา ย่อมจะก่อให้เกิดผลเสียต่อประโยชน์ส่วนได้เสียของจำเลยที่ 2 โดยตรง แม้จำเลยที่ 2จะมิได้ฟ้องแย้งให้โจทก์ส่งมอบอาคารโรงเรียนพิพาทให้จำเลย จำเลยที่ 2ก็มีสิทธิจะขอให้ศาลมีคำสั่งเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยที่ 2 ในระหว่างการพิจารณาเพื่อให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ดูแลรักษาอาคารโรงเรียนพิพาทในระหว่างการพิจารณาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 264 ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องว่าโจทก์ได้หยุดงานก่อสร้างอาคารโรงเรียนพิพาทแล้วและจำเลยที่ 2 ก็เป็นเจ้าอาวาสวัดจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ก็รับมาในคำคัดค้านว่าจำเลยที่ 2 อาจดูแลรักษาอาคารโรงเรียนพิพาทได้เองอยู่แล้ว ทั้งการที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้าดูแลรักษาอาคารโรงเรียนพิพาทก็ไม่กระทบถึงสิทธิหรือส่วนได้เสียของโจทก์ตามฟ้องแต่อย่างใด การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าเป็นผู้ดูรักษาอาคารโรงเรียนพิพาทนั้น นับว่าเหมาะสมกับรูปคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย สำหรับข้อที่ศาลล่างทั้งสองอนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าดำเนินการทำประโยชน์และครอบครองอาคารโรงเรียนพิพาทด้วยนั้น เป็นคำสั่งเกี่ยวกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาอันเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 แต่ในคดีนี้จำเลยที่ 2 เพียงแต่ยื่นคำให้การปฏิเสธว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ผลของคดีหากจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายชนะ ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องโจทก์ไปตามคำขอท้ายคำให้การ ไม่มีผลบังคับไปถึงการเข้าทำประโยชน์และการครอบครองอาคารโรงเรียนพิพาทของจำเลยที่ 2 เว้นแต่จำเลยที่ 2 จะฟ้องแย้งและมีคำขอบังคับเช่นนั้น ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าดำเนินการทำประโยชน์และครอบครองอาคารโรงเรียนพิพาทจึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 และไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์เฉพาะส่วนนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เข้าดำเนินการทำประโยชน์และครอบครองอาคารโรงเรียนพิพาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ