คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1907/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประเด็นพิพาทมีว่า บ้านพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยเป็นเรื่องใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ข้อแก้ฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะยังไม่ได้เข้าครอบครองที่พิพาทซึ่งบ้านพิพาทปลูกอยู่ จึงตกไปเพราะถ้าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แล้ว จำเลยก็ไม่มีสิทธิจะอยู่ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านพิพาทได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากห้องพิพาทให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าที่ค้างและค่าเสียหายจนกว่าจะออกจากบ้านพิพาทแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงคงฟังได้ว่า เดิมนายหย่งหงีปู่ของโจทก์เช่าที่ดินที่ปลูกบ้านพิพาทนี้จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้มีการปลูกบ้านในที่พิพาทรวม 14 หลัง มีผู้เช่าที่ดินหรือบ้านอยู่หลายคน เมื่อนายหย่งหงีกลับประเทศจีนและถึงแก่กรรมบิดาของโจทก์เป็นผู้ครอบครองต่อมาโดยมิได้ทำสัญญาเช่าที่ดินต่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จำเลยทั้งสองอยู่ในบ้านพิพาทมากว่า 20 ปี เป็นผู้ขอติดตั้งไฟฟ้าและน้ำประปา เมื่อบิดาของโจทก์ถึงแก่กรรม โจทก์ขอเช่าและได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2520 ต่อมาจำเลยทั้งสองถูกขอขึ้นค่าเช่า จึงยื่นคำร้อง ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2520 ต่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทและขอเช่าที่ดินโดยตรงจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

คดีนี้จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาท ประเด็นพิพาทสำคัญจึงมีว่า บ้านพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลยทั้งสอง เมื่อประเด็นพิพาทเป็นเรื่องใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แล้ว ข้อแก้ฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะยังไม่ได้เข้าครอบครองที่พิพาทจึงตกไป เพราะถ้าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แล้วจำเลยทั้งสองก็ไม่มีสิทธิจะอยู่ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในประเด็นเรื่องกรรมสิทธิ์นี้ โจทก์นำสืบว่า ปู่ของโจทก์ปลูกบ้านมาประมาณ50 ปีเศษ บิดามารดาของโจทก์เคยอยู่ในบ้านหลังนี้ ภายหลังจึงมีการกั้นห้องให้เช่า และได้นำศาลเผชิญสืบให้เห็นว่า บ้านเลขที่ 342,344 และ 346 นั้นปลูกพร้อมเป็นหลังเดียวกันสำหรับบ้านเลขที่ 346 นั้นได้มีการต่อเติมออกไปส่วนจำเลยทั้งสองนำสืบว่า จำเลยทั้งสองเช่าที่ดินจากบิดาโจทก์แล้วร่วมกับนายเทียนอิ้วน้องชายบิดาโจทก์จ้างคนปลูกบ้านในปี พ.ศ. 2498 แล้วจำเลยทั้งสองเข้าอยู่ในบ้านพิพาทตลอดมา เห็นว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบว่า จำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์กันประการใดจึงได้จ้างคนปลูกบ้านพร้อมกัน โดยมีน้องชายของบิดาโจทก์ร่วมปลูกอยู่ตรงกลางเสียอีกเป็นการขัดต่อเหตุผล และเมื่อดูทะเบียนสำมะโนครัว เอกสารหมาย จ.12 บ้านเลขที่ 71 หรือบ้านพิพาทเลขที่ 346 มีชื่อนายฮ้อ แซ่เหเป็นคนแรก ปรากฏตามทะเบียนว่าอายุ 55 ปี เกิดเมื่อ พ.ศ. 2435 แสดงว่าขณะลงทะเบียนสำมะโนครัวนั้น เป็น พ.ศ. 2990 (ปีเกิดบวกด้วยอายุ 2435+55=2490) ส่วนทะเบียนสำมะโนครัว เอกสารหมาย จ.13 นั้นมีชื่อนายหลีแซ่ลี้เป็นคนแรกอายุ 37 ปี เกิดเมื่อ พ.ศ. 2453 แสดงว่าขณะลงทะเบียนสำมะโนครัวนั้นเป็น พ.ศ. 2490 ตรงกัน บ้านนี้จึงมีคนเข้าอยู่ก่อนจำเลยให้การแก้คดี (พ.ศ. 2521)อย่างน้อยถึง 30 ปีเศษ ก่อนจำเลยทั้งสองนำสืบว่าปลูกบ้านถึง 8 ปี และก่อนเวลาที่จำเลยทั้งสองให้การว่าเช่าที่ดินถึง 10 ปี จำเลยที่ 1 ย้ายเข้าอยู่ในบ้านพิพาทเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2495 ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏทางทะเบียนสำมะโนครัวว่ามีการเช่าอยู่ในบ้านพิพาท ข้อที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าปลูกบ้านเอง แล้วเข้าอยู่เมื่อ พ.ศ. 2498 จึงขัดกับเอกสารราชการรับฟังเชื่อไม่ได้ แต่กลับเจือสมพยานโจทก์ที่ว่าบิดาโจทก์กั้นห้องแบ่งให้คนเช่าก่อนที่จำเลยจะเข้ามาเช่าอยู่ ข้อที่จำเลยทั้งสองว่าโจทก์ได้แจ้งต่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ว่าปลูกบ้านเมื่อปีพ.ศ. 2504 นั้น ฟังได้อย่างมากเป็นเพียงเรื่องโจทก์แจ้งผิดพลาดต่อความจริงการต่อเติมบ้าน ติดตั้งไฟฟ้า ประปาก็เป็นเรื่องเพื่อความสะดวกสบายในการใช้ตัวอาคารของจำเลยทั้งสอง มิได้เป็นเครื่องชี้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้ปลูกบ้านพิพาท ประกอบกับบิดาโจทก์ได้แจ้งเสียภาษีโรงเรือนห้องพิพาทมาตั้งแต่ พ.ศ. 2512 โดยเว้นห้องเลขที่ 345 ซึ่งเป็นห้องกลางระหว่างห้องพิพาททั้งสองไว้ว่า “อยู่อาศัยเอง”ซึ่งจำเลยนำสืบว่า น้องของบิดาโจทก์เป็นผู้ปลูกห้องกลางนี้อยู่อาศัย กลับเป็นข้อสนับสนุนว่าห้องพิพาทนี้นายหย่งหงีเป็นผู้ปลูก ตรงกลางมีลักษณะเป็นศาลเจ้านายหย่งหงีอยู่ข้างหนึ่ง บิดามารดาโจทก์อยู่ข้างหนึ่ง ตามคำขอนางซ่วนมารดาโจทก์ห้องพิพาทนี้จึงเป็นทรัพย์มรดกของนายหย่งหงีตกทอดสืบมาจนเป็นของโจทก์”

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้จำเลยแต่ละสำนวนใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวมสำนวนละ 2,000 บาท

Share