คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2827/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายฐานปฏิบัติผิดสัญญารับขนซึ่งเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากสัญญาการให้บริการบรรทุกจึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือตามนัยแห่งพระราชบัญญัติการกักเรือพ.ศ.2534มาตรา3เมื่อจำเลยผู้ถูกฟ้องมิได้มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใดให้แก่จำเลยจึงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติการกักเรือพ.ศ.2534มาตรา29วรรคหนึ่งกล่าวคือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นนั้นจะมีผลต่อเมื่อกำหนดเวลาสิบห้าวันได้ล่วงพ้นไปแล้วนับแต่วันที่ได้ส่งหรือปิดคำคู่ความหรือเอกสารนั้นคดีนี้ปรากฏว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวแต่จำเลยแต่งตั้งให้บ.เป็นตัวแทนในการรับเอกสารต่างๆและเจ้าพนักงานปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องณที่ภูมิลำเนาของบ.ตัวแทนของจำเลยเมื่อวันที่7มกราคม2537จึงต้องเริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่8มกราคม2537ครบกำหนด15วันซึ่งพระราชบัญญัติการกักเรือพ.ศ.2534มาตรา29วรรคสองบัญญัติให้ถือว่าจำเลยที่1ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องในวันที่22มกราคม2537จึงต้องเริ่มนับกำหนดเวลายื่นคำให้การภายใน15วันตั้งแต่วันที่23มกราคม2537ครบกำหนดที่จำเลยจะยื่นคำให้การได้ภายในวันที่6กุมภาพันธ์2537เป็นอย่างช้าดังนั้นการที่จำเลยยื่นคำให้การในวันที่7มีนาคม2537จึงพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยมีสิทธิยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา83ทวิและมาตรา83ฉนั้นเมื่อบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ใช้สำหรับกรณีการส่งหมายเรียกและคำฟ้องแก่จำเลยที่ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรในกรณีทั่วๆไปแต่คดีนี้เป็นการฟ้องคดีตามสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือซึ่งพระราชบัญญัติกักเรือพ.ศ.2534มาตรา29บัญญัติถึงวิธีการส่งคำคู่ความให้แก่จำเลยซึ่งมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะแล้วจึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา83ทวิและมาตรา83ฉอันเป็นบททั่วไปมาใช้บังคับได้

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ร้องขอให้กักเรือพัฒนา 188 ของจำเลยที่ 1 เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติการกักเรือ พ.ศ. 2534 ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้กักเรือพัฒนา 188 ไว้ จำเลยที่ 1 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้แต่งตั้งและมอบอำนาจให้นายบรรจบ วงษ์วิบูลย์สิน กรรมการบริษัทแองเคอร์อินเตอร์เนชั่นแนลทรานสปอร์ต จำกัด ตัวแทนยื่นคำร้องขอให้ปล่อยเรือ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ต่อมาโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากเรือพัฒนา 188 ซึ่งปฏิเสธไม่รับขนส่งสินค้าตามสัญญารับขนทางทะเลให้แก่โจทก์ โจทก์ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่นายบรรจบ วงษ์วิบูลย์สิน ตัวแทนของจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยเรือตามพระราชบัญญัติการกักเรือพ.ศ. 2534 โดยการปิดหมายเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2537 จำเลยที่ 1ยื่นคำให้การเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2537
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำให้การ โดยเห็นว่าจำเลยที่ 1มิได้ยื่นคำให้การภายในกำหนด 45 วัน
จำเลย ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหามาสู่ศาลฎีกาว่า จำเลยที่ 1นำคำให้การมายื่นต่อศาลภายในกำหนดหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ขอให้กักเรือพัฒนา 188 ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติการกักเรือ พ.ศ. 2534 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้กักเรือของจำเลยที่ 1 ไว้ตามขอ ต่อมาโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยที่ 1ปฏิบัติผิดสัญญารับขนเป็นคดีนี้ ตามพระราชบัญญัติการกักเรือพ.ศ. 2534 มาตรา 3 วรรคสอง บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือ” หมายความว่า สิทธิเรียกร้องอันเกิดจาก (ค) สัญญาเกี่ยวกับการใช้ เช่า เช่าซื้อหรือยืมเรือการให้บริการบรรทุก หรือสัญญาอื่นทำนองเดียวกัน คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายฐานปฏิบัติผิดสัญญารับขนซึ่งเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากสัญญาการให้บริการบรรทุกจึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือตามนัยแห่งพระราชบัญญัติการกักเรือ พ.ศ. 2534มาตรา 3 ดังกล่าวข้างต้นนั้นเอง ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1ผู้ถูกฟ้อง มิได้มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใดให้แก่จำเลยจึงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติการกักเรือพ.ศ. 2534 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้เป็นพิเศษว่า”เมื่อลูกหนี้ซึ่งมิได้มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรถูกฟ้องคดีแล้วและยังไม่ได้ตั้งทนายความไว้ การส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใดให้แก่จำเลย (1) ถ้ามีตัวแทนให้ส่งแก่ตัวแทน” และวรรคสามบัญญัติว่า “เมื่อได้ปฏิบัติตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ถือว่าจำเลยได้รับคำคู่ความหรือเอกสารนั้นเมื่อระยะเวลาสิบห้าวันได้ล่วงพ้นไปแล้วนับแต่วันที่ได้ส่งหรือปิดคำคู่ความหรือเอกสารนั้น” ซึ่งหมายความว่า การส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นนั้น จะมีผลต่อเมื่อกำหนดเวลาสิบห้าวันได้ล่วงพ้นไปแล้วนับแต่วันที่ได้ส่งหรือปิดคำคู่ความหรือเอกสารนั้น คดีนี้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวแต่จำเลยที่ 1แต่งตั้งให้นายบรรจบ วงษ์วิบูลย์สิน เป็นตัวแทนในการรับเอกสารต่าง ๆ ตามเอกสารที่แนบมาท้ายคำร้องขอให้ปล่อยเรือฉบับลงวันที่ 21 ตุลาคม 2536 ของศาลชั้นต้น และเจ้าพนักงานปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ณ ที่ภูมิลำเนาของนายบรรจบตัวแทนของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2537 จึงต้องเริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2537 ครบกำหนด 15 วัน ซึ่งพระราชบัญญัติการกักเรือ พ.ศ. 2534 มาตรา 29 วรรคสอง บัญญัติให้ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องในวันที่22 มกราคม 2537 จึงต้องเริ่มนับกำหนดเวลายื่นคำให้การภายใน15 วัน ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2537 ครบกำหนดที่จำเลยที่ 1จะยื่นคำให้การได้ภายในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2537 เป็นอย่างช้าดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การในวันที่ 7 มีนาคม 2537จึงพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 83 ทวิ และมาตรา 83 ฉนั้น เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ใช้สำหรับกรณีการส่งหมายเรียกและคำฟ้องแก่จำเลยที่ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรในกรณีทั่ว ๆ ไป แต่คดีนี้เป็นการฟ้องคดีตามสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเรือ ซึ่งมีพระราชบัญญัติการกักเรือ พ.ศ. 2534มาตรา 29 บัญญัติถึงวิธีการส่งคำคู่ความให้แก่จำเลยซึ่งมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 83 ทวิและมาตรา 83 ฉ อันเป็นบททั่วไปมาใช้บังคับได้
พิพากษายืน

Share