แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ในคดีนี้เป็นการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ตำบลสีลมอำเภอบางรักและตำบลยานนาวาตำบลทุ่งมหาเมฆตำบลทุ่งวัดดอนตำบลช่องนนทรีอำเภอยานนาวา จังหวัดพระนครพ.ศ.2511และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์และแขวงสีลมเขตบางรักและแขวงยานนาวาแขวงทุ่งมหาเมฆแขวงทุ่งวัดดอนและแขวงช่องนนทรีเขตยานนาวา กรุงเทพมหานครพ.ศ.2516แต่ภายหลังจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่44เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีผลใช้บังคับแล้วการดำเนินการในเรื่องค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ที่ถูกเวนคืนก็ยังไม่เสร็จสิ้นดังนั้นการดำเนินการต่อไปในเรื่องนี้จึงต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530ที่แก้ไขแล้วทั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530มาตรา36วรรคสองและประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่44ข้อ4วรรคหนึ่งและเนื่องจากพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์พ.ศ.2516มิได้กำหนดเรื่องเงินค่าทดแทนไว้เป็นการเฉพาะการกำหนดเงินค่าทดแทนจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติมาตรา21แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530ซึ่งบัญญัติหลักการสำคัญไว้ในวรรคแรกว่าการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ถูกเวนคืนต้องให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมส่วนที่มาตรา21วรรคสองบัญญัติว่าถ้าการงานหรือกิจการอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืนได้กระทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่นั้นมีราคาสูงขึ้นให้เอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนและวรรคสามบัญญัติว่าถ้าต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่เพียงส่วนหนึ่งและส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะสำหรับส่วนที่เหลืออันราคาลดลงนั้นด้วยมาตรา21วรรคสองและวรรคสามนี้เป็นบทบัญญัติที่เป็นหลักการในการสนับสนุนให้การเวนคืนเป็นไปด้วยความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมโดยสมบูรณ์เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการเวนคืนทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้นแล้วหากไม่นำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนก็จะทำให้ผู้ถูกเวนคืนได้รับผลประโยชน์จากการเวนคืนแต่ฝ่ายเดียวในทางตรงกันข้ามหากอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงแล้วหากผู้ถูกเวนคืนไม่ได้รับเงินค่าทดแทนในส่วนนี้ก็ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนซึ่งขัดต่อหลักการสำคัญของมาตรา21ที่ให้กำหนดค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมส่วนมาตรา21วรรคสี่นั้นเป็นเพียงวิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของมาตรา21เท่านั้นแม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณออกใช้บังคับแล้วตามมาตรา21วรรคสี่ก็ไม่ใช่กรณีที่จะทำให้หลักการตามมาตรา21วรรคสองและวรรคสามใช้ไม่ได้หากปรากฏชัดว่าที่ดินในส่วนที่เหลือของโจทก์มีราคาสูงขึ้นเพราะการเวนคืนแล้วก็ชอบที่จะนำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่503 แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 5 ไร่ 1 งาน46 ตารางวา เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2516 ได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ และแขวงสีลม เขตบางรักและแขวงยานนาวา แขวงทุ่งมหาเมฆ แขวงทุ่งวัดดอน และแขวงช่องนนทรีเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2516 เพื่อสร้างทางและปรับปรุงระบบระบายน้ำสำหรับกรุงเทพมหานคร และจำเลยที่ 4เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่ดินโจทก์อยู่ในบริเวณที่จะถูกเวนคืนบางส่วน เนื้อที่ 3 งาน 27 ตารางวา จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 3 มิถุนายน 2534 แจ้งให้โจทก์ทราบว่า ราคาค่าทดแทนที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนตารางวาละ 30,000 บาทคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 9,810,000 บาท และได้นำราคาที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนซึ่งมีราคาสูงขึ้นไปหักกลบลบกับค่าทดแทนตามจำนวนดังกล่าวแล้วเกลื่อนกลืนกัน จึงไม่ต้องชำระเงินแก่โจทก์อีกซึ่งโจทก์เห็นว่าการกำหนดราคาค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนต่ำไปจึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 4 ที่ดินโจทก์ที่กล่าวถึงข้างต้นอยู่ถนนสีลมซึ่งเป็นถนนสายสำคัญของย่านธุรกิจที่มีความเจริญมีราคาซื้อขายกันตามปกติตารางวาละ 500,000 บาท โจทก์ขอคิดค่าทดแทนในอัตราดังกล่าวคิดเป็นเงินทั้งสิ้น 163,500,000 บาท ในการเวนคืนนี้เมื่อตัดถนนแล้วที่ดินโจทก์ส่วนที่เหลือในระยะ 15 เมตร จากเขตถนนได้มีข้อบัญญัติของจำเลยที่ 1 ห้ามก่อสร้างอาคาร ทำให้ที่ดินโจทก์ส่วนนี้เสียไป 75 ตารางวา และโจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้ จึงขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้ในราคาตารางวาละ 500,000 บาทเป็นเงิน 35,000,000 บาท ที่จำเลยทั้งสี่อ้างว่าที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาสูงขึ้นก็เป็นเพียงการคาดคะเนไม่แน่นอนคณะกรรมการของจำเลยทั้งสี่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะกำหนดหลักเกณฑ์และคิดคำนวณแล้วนำไปหักจากค่าทดแทนได้ การที่จำเลยทั้งสี่กำหนดค่าทดแทนเกี่ยวกับหลุมศพ ค่ารื้อถอน ค่าขนย้ายค่าก่อสร้างขึ้นใหม่ ค่าหมอดู และค่าพิธีกรรมทางศาสนาให้เพียง1,814,320 บาท นั้นก็ต่ำไป โจทก์ขอคิดจากจำเลยทั้งสี่เป็นเงิน 18,147,200 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน216,647,200 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนมิได้ตั้งอยู่บนถนนสีลา และที่ดังกล่าวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นที่อยู่อาศัยหรือประกอบธุรกิจในทางพาณิชย์ได้ จึงไม่มีค่าในเชิงธุรกิจ ราคาที่โจทก์อ้างตามเอกสารท้ายฟ้องนั้น มิใช่ราคาซื้อขายตามปกติในท้องตลาดราคาค่าทดแทนที่คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ และแขวงสีลา เขตบางรักและแขวงยานนาวา แขวงทุ่งมหาเมฆ แขวงทุ่งวัดดอน และแขวงช่องนนทรีเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2516 กำหนดและแจ้งให้โจทก์ทราบเป็นราคาเหมาะสมและชอบด้วยกฎหมาย เพราะที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนอยู่ในโซน 05 บล็อกเอฟ. หน่วยที่ 4 ราคาตารางวาละ30,000 บาท ราคาดังกล่าวเป็นราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินที่ใช้บังคับในปี 2531 ที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนจำนวน 327 ตารางวาคิดเป็นเงินค่าทดแทนทั้งสิ้น 9,810,000 บาท ที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนจำนวน 1,819 ตารางวา คิดเป็นเงิน 54,570,000 บาทที่ดินส่วนนี้ติดถนนที่สร้างใหม่โจทก์จึงได้รับประโยชน์ในทางพาณิชย์อย่างมาก เมื่อนำราคาประเมินปัจจุบันของถนนสาธรซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงมาเปรียบเทียบจะมีราคาตารางวาละ 80,000 บาทเมื่อคิดคำนวณแล้วที่ดินส่วนที่เหลือจะมีราคาทั้งสิ้น 145,520,000บาทและเมื่อนำไปหักด้วยราคา 54,570,000 บาท แล้วราคาที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนจะสูงขึ้น 90,950,000 บาท เมื่อนำราคาดังกล่าวนี้ไปหักกลบลบกับเงินค่าทดแทนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 21แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ปรากฏว่าเกลื่อนกลืนกัน ส่วนข้อที่โจทก์อ้างว่ามีการห้ามมิให้ก่อสร้างอาคารภายในระยะ 15 เมตร จากเขตถนนนั้นก็ไม่มีประกาศห้ามและตามข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานครนั้น อาคารที่จะก่อสร้างริมถนนสาธารณะที่มีความกว้าง 20 เมตร ให้ร่นแนวอาคารห่างจากถนน 2 เมตร สำหรับถนนที่ตัดใหม่และที่ดินโจทก์ส่วนนี้เหลือติดกับถนนดังกล่าวนี้เป็นถนนกว้าง 60 เมตร ก็ให้เว้นแนวอาคารที่จะปลูกสร้างเพียง 2 เมตร เท่านั้น ค่าทดแทนที่โจทก์เรียกร้องในส่วนนี้เป็นการกำหนดล่วงหน้าและเป็นเรื่องในอนาคตจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งสี่ ค่าทดแทนหลุมศพ ค่ารื้อถอนและฝังศพใหม่ค่าพิธีกรรมในทางศาสนาคณะกรรมการฯ กำหนดให้เหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว โจทก์ไม่ใช่เจ้าของศพทั้งมิได้รับมอบหมายจากทายาทหรือเจ้าของที่ฝังศพ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 503แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 5 ไร่ 1 งาน46 ตารางวา เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2516 ได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ และแขวงสีลม เขตบางรักและแขวงยานนาวา แขวงทุ่งมหาเมฆ แขวงทุ่งวัดดอน และแขวงช่องนนทรีเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2516 เพื่อประโยชน์ของรัฐในการสร้างทางและปรับปรุงระบบระบายน้ำสำหรับกรุงเทพมหานครตามเอกสารหมาย ล.5 กำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และจำเลยที่ 4 เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่ดินโจทก์ที่กล่าวถึงข้างต้นถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติดังกล่าวบางส่วน คิดเป็นเนื้อที่ 327 ตารางวา และมีส่วนเหลือจากการเวนคืนคิดเป็นเนื้อที่ 1,819 ตารางวา คณะกรรมการฯ ที่จำเลยที่ 4 มีคำสั่งแต่งตั้งตามเอกสารหมาย ล.14 เพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามเอกสารหมาย ล.5 ได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินโจทก์ส่วนที่ถูกเวนคืนในราคาตารางวาละ 30,000 บาท เป็นเงิน 9,810,000 บาทสำหรับที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนตารางวาละ 80,000 บาทเป็นเงินทั้งสิ้น 145,520,000 บาท เมื่อคำนวณแล้วที่ดินส่วนที่เหลือนี้มีราคาสูงขึ้นคิดเป็นเงิน 90,650,000 บาท (145,520,000 บาท -54,570,000 บาท) คณะกรรมการฯ ได้นำราคาที่ดินที่สูงขึ้นนี้ไปหักจากค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืน ปรากฏว่าเกลื่อนกลืนกันฝ่ายจำเลยทั้งสี่จึงไม่จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.6 นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ยังได้กำหนดค่าทดแทนเกี่ยวกับหลุมฝังศพจำนวน 67 หลุม ทางเดินคอนกรีตเสริมเหล็ก ต้นไม้ รั้ว ซึ่งอยู่ในที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,814,720 บาท ตามเอกสารหมาย จ.14 โจทก์เห็นว่าค่าทดแทนดังกล่าวข้างต้นต่ำไป จึงได้อุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 4 ว่าที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนราคาไม่ได้สูงขึ้น จึงไม่อาจนำมาหักกลบลบเกลื่อนกลืนกันกับที่ดินที่ถูกเวนคืน และขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนตารางวาละ 80,000 บาท เนื้อที่ 327 ตารางวารวมเป็นเงิน 26,160,000 บาท และเงินค่าทดแทน ค่ารื้อถอนขนย้ายและสร้างหลุมฝังศพใหม่จำนวน 18,147,200 บาท ตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.9
โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 21 วรรคสี่ บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า”การคำนวณว่าอสังหาริมทรัพย์ใดมีราคาสูงขึ้นตามวรรคสองหรือราคาลดลงตามวรรคสามให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา” ซึ่งปัจจุบันพระราชกฤษฎีกาตามความในมาตรา 21วรรคสี่ ยังไม่ได้ประกาศใช้บังคับ คณะกรรมการฯ จึงไม่มีอำนาจที่จะกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการโดยพลการแล้วคิดคำนวณหักเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนของโจทก์ตามมาตรา 21 วรรคสอง นั้นเห็นว่า การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ในคดีนี้เป็นการดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลสุรวงศ์ ตำบลสีลม อำเภอบางรัก และตำบลยานนาวาตำบลทุ่งมหาเมฆ ตำบลทุ่งวัดดอน ตำบลช่องนนทรี อำเภอยานนาวาจังหวัดพระนคร พ.ศ. 2511 และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ และแขวงสีลา เขตบางรัก และแขวงยานนาวาแขวงทุ่งมหาเมฆ แขวงทุ่งวัดดิน และแขวงช่องนนทรี เขตยานนาวากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2516 แต่ภายหลังจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มีผลใช้บังคับแล้วการดำเนินการในเรื่องค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ที่ถูกเวนคืนก็ยังไม่เสร็จสิ้น ดังนั้นการดำเนินการต่อไปในเรื่องนี้จึงต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ที่แก้ไขแล้ว ทั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 36 วรรคสอง และประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 ข้อ 4 วรรคหนึ่ง และเนื่องจากพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ พ.ศ. 2516 มิได้กำหนดเรื่องเงินค่าทดแทนไว้เป็นการเฉพาะ การกำหนดเงินค่าทดแทนจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งบัญญัติหลักการสำคัญไว้ในวรรคแรกว่าการกำหนดเงินค่าทดแทนให้แก่ผู้ถูกเวนคืนต้องให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ส่วนที่มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่าถ้าการงานหรือกิจการอย่างใดที่ทำไปในการเวนคืน ได้กระทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่นั้นมีราคาสูงขึ้น ให้เอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทน และวรรคสามบัญญัติว่า ถ้าต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แต่เพียงส่วนหนึ่ง และส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้เฉพาะสำหรับส่วนที่เหลืออันราคาลดลงนั้นด้วยมาตรา 21 วรรคสองและวรรคสามนี้เป็นบทบัญญัติที่เป็นหลักในการสนับสนุนให้การเวนคืนเป็นไปด้วยความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคมโดยสมบูรณ์ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการเวนคืนทำให้อสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้นแล้วหากไม่นำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทน ก็จะทำให้ผู้ถูกเวนคืนได้รับผลประโยชน์จากการเวนคืนแต่ฝ่ายเดียว ในทางตรงกันข้ามหากอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เหลือนั้นราคาลดลงแล้ว หากผู้ถูกเวนคืนไม่ได้รับเงินค่าทดแทนในส่วนนี้ ก็ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนซึ่งขัดต่อหลักการสำคัญของมาตรา 21 ที่ให้กำหนดค่าทดแทนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ส่วนมาตรา 21 วรรคสี่นั้น เป็นเพียงวิธีการที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของมาตรา 21 เท่านั้น แม้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณออกใช้บังคับแล้วตามมาตรา 21 วรรคสี่ ก็ไม่ใช่กรณีที่จะทำให้หลักการตามมาตรา 21 วรรคสองและวรรคสาม ใช้ไม่ได้หากปรากฏชัดว่าที่ดินในส่วนนี้เหลือของโจทก์มีราคาสูงขึ้นเพราะการเวนคืนแล้ว ก็ชอบที่จะนำเอาราคาที่สูงขึ้นนั้นหักออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนได้ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปมีว่า การเวนคืนที่ดินตามฟ้องทำให้ราคาที่ดินโจทก์ส่วนที่เหลืออยู่มีราคาสูงขึ้นหรือไม่เพียงไร และเมื่อนำมาหักกลบกับค่าทดแทนที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนแล้วโจทก์ยังมีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนตั้งอยู่หน่วยที่ 4 ของบัญชีราคาประเมินที่ดินปี 2531 ถึง 2534 ซึ่งเป็นแผ่นที่ 2 ของเอกสารหมายล.7 มีราคาตารางวาละ 30,000 บาท ที่โจทก์อ้างว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 503 ของโจทก์มีราคาประเมินตารางวาละ 250,000 บาทตามหนังสือรับรองราคาประเมินเอกสารหมาย จ.12 นั้น ปรากฏว่าเป็นการรับรองราคาประเมินซึ่งใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535ทั้งโจทก์ไม่ได้นำเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งออกหนังสือรับรองราคาประเมินดังกล่าวอธิบายว่าเป็นราคาประเมินของที่ดินโจทก์ในส่วนที่ถูกเวนคืนด้วยหรือไม่ เหตุใดในระยะเพียงห่างกันเพียง 4 ปี ราคาประเมินจึงเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 8 เท่าของราคาประเมินตามสำเนาแผนที่บัญชีราคาประเมินที่ดินปี 2531 ถึง 2534 เขตบางรักกรุงเทพมหานคร ของกรมที่ดินเอกสารหมาย ล.7 ราคาประเมินที่เพิ่มขึ้นมากมายดังกล่าวน่าจะเป็นราคาประเมินของที่ดินในส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเพราะเหตุสภาพที่ดินและทำเลที่ตั้งจะเปลี่ยนไปติดกับถนนขนาดใหญ่อันเนื่องจากการเวนคืนตัดถนนนั่นเอง ฟังไม่ได้ว่าที่ดินโจทก์ในส่วนที่ถูกเวนคืนมีราคาประเมินตารางวาละ 250,000 บาท ส่วนที่ดินโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนติดกับถนนที่ก่อสร้างใหม่อันเนื่องจากการเวนคืนซึ่งเป็นถนนขนาดใหญ่กว้าง 60 เมตร มีสภาพเหมือนกับถนนสาธรแต่อยู่ใกล้กับถนนสีลมซึ่งมีราคาประเมินสูงกว่าถนนสาธรสภาพและทำเลที่ตั้งของที่ดินโจทก์ที่เหลือนี้น่าจะดีกว่าหรืออย่างน้อยเท่ากับที่ดินที่ติดถนนสาธรจึงนำเอาราคาที่ดินที่ติดกับถนนสาธรในระยะเวลาเดียวกันมาเทียบเคียงเพื่อใช้เป็นราคาของที่ดินโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนได้ ซึ่งตามราคาประเมินที่ดินตามสำเนาแผนที่บัญชีราคาประเมินที่ดินปี 2531 ถึง 2534เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร ของกรมที่ดินเอกสารหมาย ล.8ที่ดินติดถนนสาธรระยะ 40 เมตร ราคาตารางวาละ 80,000 บาทเมื่อเทียบเป็นอัตราส่วนของราคาต่อตารางวาแล้ว ราคาประเมินที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนต่อราคาประเมินที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนจะเป็น 3 ต่อ 8 และเชื่อว่าราคาต่อตารางวาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนคงมีราคาสูงกว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนในอัตราส่วนที่ไม่น้อยกว่าอัตราส่วนของราคาประเมินและที่ดินโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนซึ่งมีราคาสูงขึ้นมีเนื้อที่กว่า5 เท่าของที่ดินที่ถูกเวนคืนและแต่ละช่วงเวลาอัตราส่วนของราคาต่อตารางวาของที่ดินดังกล่าวทั้งสองส่วนคงเปลี่ยนแปลงไม่มากแม้หากที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนมีอัตราส่วนของราคาต่อตารางวาสูงขึ้นเพียง 1 ใน 5 ของราคาที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนที่ดินโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนซึ่งมีราคาสูงขึ้นก็จะมีราคาสูงขึ้นมากกว่าจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนแล้ว จึงเห็นได้ชัดแจ้งว่า ไม่ว่าเวลาที่เป็นฐานที่ตั้งแห่งการกำหนดที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืน กับราคาที่ดินโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนซึ่งต้องสัมพันธ์กันโดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแล้ว เป็นวันใดก็ตามที่ดินโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนซึ่งมีราคาสูงขึ้นย่อมเป็นจำนวนเงินเกินกว่าเงินค่าทดแทนที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนเสมอ ฝ่ายจำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ไม่มีบทบัญญัติของมาตราใดให้สิทธิโจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ติดถนนในระยะ 15 เมตร เนื้อที่75 ตารางวา โจทก์อุทธรณ์ในประเด็นข้อนี้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ชอบตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งไม่วินิจฉัยให้ ดังนี้การที่โจทก์ยังคงฎีกาโดยใช้ข้อความเดียวกับที่ได้อุทธรณ์มา ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่าที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายประการใด ในข้อไหน จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงขึ้นกล่าวให้ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และเห็นว่า เรื่องค่าทดแทนที่ดินศาลฎีกาวินิจฉัยในตอนต้นว่าจำเลยทั้งสี่ไม่ต้องร่วมรับผิดจ่ายให้แก่โจทก์ ส่วนค่าทดแทนที่ดินแนวร่นนั้นก็ไม่รับวินิจฉัย สำหรับค่ารื้อถอนขนย้ายหลุมฝังศพเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ส่วนเรื่องดอกเบี้ยนั้นเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้น โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะได้รับดอกเบี้ยด้วย ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาจำนวน 10,000 บาทแทนจำเลยทั้งสี่