คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 648/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อความที่โจทก์กล่าวมาในฎีกาเป็นไปในทำนองเดียวกับที่จำเลยกล่าวไว้ในอุทธรณ์อันเป็นการโต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นซึ่งศาลอุทธรณ์ก็ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้วข้อความที่โจทก์กล่าวมาดังกล่าวไม่ได้โต้แย้งหรือคัดค้านของศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบอย่างไรและที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไรจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งย่อมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์ขอเลื่อนการพิจารณาโดยขาดเหตุผลอันสมควรหลายครั้งหลายหนทั้งในการขอเลื่อนการพิจารณาเมื่อวันที่15มิถุนายน2532โจทก์ก็ไม่ได้อ้างและแสดงให้เป็นที่พอใจของศาลได้ว่าถ้าศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนต่อไปอีกจะทำให้เสียความยุติธรรมดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ประวิงคดีให้ชัดช้าและไม่อนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาอีกจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา40วรรคหนึ่งแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้ยกเลิกหนังสือรับรองความรู้เพื่อแสดงว่าโจทก์เรียนจบและสอบไล่ได้ชั้นมัธยมปีที่หกจากโรงเรียนหนองโกมัธยม หากไม่ปฎิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และขอให้ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามดำเนินการมีคำสั่งให้ยกเลิกระเบียบแสดงผลการเรียนระดับประโยคมัธยมศึกษาตอนปลายของโจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่ได้เรียนจบชั้นมัธยมปีที่หกจึงขาดคุณสมบัติที่จะเข้าเรียนและสอบไล่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายการกระทำของจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดอุบลราชธานีชอบด้วยเหตุผลและกฎหมายขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ต่อเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2532โจทก์ยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณา อ้างว่ายังติดใจสืบพยานอีก2 ปาก ได้แก่นายจำนูญ กาวิละ และนายวรรณ แก้วเนตร แต่พยานทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด โจทก์ขอส่งประเด็นไปสืบนายจำนูญที่ศาลจังหวัดลพบุรี ส่วนนายวรรณป่วยกะทันหัน จึงขอเลื่อนไปสืบพยานนัดต่อไป จำเลยคัดค้าน ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์เลื่อนคดีเกี่ยวกับพยาน 2 ปากนี้มีหลายนัดแล้ว เป็นการประวิงคดีจึงให้งดสืบพยานโจทก์ทั้งสองและนัดสืบพยานจำเลย โจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไว้แล้ว
ศาลชั้นต้น พิจารณา แล้ว พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับประเด็นที่ว่า จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่นั้น ปรากฎว่า ข้อความที่โจทก์กล่าวมาในฎีกาเป็นไปในทำนองเดียวกับที่จำเลยกล่าวไว้ในอุทธรณ์อันเป็นการโต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดถี่ถ้วนแล้วข้อความที่โจทก์กล่าวมาดังกล่าวไม่ได้โต้แย้งหรือคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบอย่างไร และที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไรจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ย่อมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์ปากนายวรรณ แก้วเนตร และนายจำนูญ กาวิละ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบเพราะในวันนัดสืบพยานโจทก์ที่นัดสืบพยานดังกล่าวนายวรรณป่วยกะทันหันมาเบิกความไม่ได้ และนายจำรูญรับราชการอยู่ที่จังหวัดลพบุรี โจทก์ได้ขอให้ศาลออกหมายเรียกนายจำนูญให้มาเบิกความแล้ว แต่นายจำนูญมาไม่ได้จึงเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้นั้น ปรากฎตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 15 มิถุนายน 2532 ว่า ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ โจทก์ได้ขอเลื่อนการพิจารณามากมายหลายครั้งกล่าวคือ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2527 โจทก์ขอเลื่อน อ้างว่าตัวโจทก์ป่วย วันที่ 11 ตุลาคม 2527 โจทก์ขอเลื่อน อ้างว่าทนายโจทก์ป่วย วันที่ 31 ตุลาคม 2527 โจทก์ขอเลื่อน อ้างว่าพยานที่จะสืบในวันนั้นไม่ติดใจสืบและขอให้ส่งประเด็นไปสืบพยานที่ศาลจังหวัดมหาสารคาม ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดและศาลจังหวัดอุบลราชธานีการสืบพยานประเด็นของโจทก์ที่ศาลจังหวัดมหาสารคาม โจทก์ได้ขอเลื่อนการพิจารณา 8 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2527 โจทก์ขอเลื่อน อ้างว่าทนายโจทก์ป่วย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2528โจทก์ขอเลื่อนอ้างว่าทนายโจทก์ป่วย วันที่ 22 เมษายน 2528โจทก์ขอเลื่อนอ้างว่าบุตรของทนายโจทก์ป่วย วันที่ 13มิถุนายน 2528 โจทก์ขอเลื่อนอ้างว่าเอกสารยังไม่ส่งมา โดยสาเหตุเนื่องจากโจทก์ขอหมายเรียกล่าช้าเองวันที่ 22 ตุลาคม 2528โจทก์ขอเลื่อนอ้างว่าเอกสารที่จะใช้ประกอบการเบิกความยังไม่ส่งมาวันที่ 26 พฤศจิกายน 2528 โจทก์ขอเลื่อน อ้างว่าทนายโจทก์ป่วยวันที่ 27 ธันวาคม 2528 โจทก์ขอเลื่อนอ้างว่าพยานมาศาล 1 ปากส่วนพยานอื่นไม่มาและไม่ติดใจที่จะสืบพยานที่มาศาลในวันนั้นและวันที่ 11 มีนาคม 2529 โจทก์ขอเลื่อนคดีอ้างว่า พยานที่จะสืบในวันนั้นป่วยที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานี โจทก์ก็ขอเลื่อนคดีหลายครั้ง ต่อมามีการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นเรียกสำนวนคืนศาลจังหวัดอุบลราชธานีจึงส่งสำนวนคืน แต่ต่อมาวันที่ 12 กันยายน 2529 โจทก์ก็แถลงขอส่งประเด็นไปสืบพยานที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานี และศาลจังหวัดร้อยเอ็ดอีก ที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานี โจทก์ได้ขอเลื่อนการพิจารณาอีก6 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2529 ทนายโจทก์มอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องขอเลื่อนอ้างว่าไม่มีพยานมาศาล วันที่10 มิถุนายน 2529 โจทก์ขอเลื่อนอ้างว่าตัวโจทก์ต้องเตรียมเอกสารเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันที 14สิงหาคม 2529 โจทก์ขอเลื่อนอ้างว่าบิดาของทนายโจทก์ป่วยต้องไปดูแลรักษา วันที่ 12 พฤษภาคม 2530 โจทก์ได้ขอเลื่อนอ้างว่าพยานโจทก์ย้ายภูมิลำเนา วันที่ 22 พฤษภาคม 2530 ทนายโจทก์มอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องขอเลื่อน อ้างว่าพยานบางคนย้ายภูมิลำเนาและพยานบางคนไปต่างจังหวัดยังไม่กลับ วันที่ 16กรกฎาคม 2530 โจทก์ขอเลื่อน อ้างว่าพยานย้ายภูมิลำเนาอีก ที่ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดโจทก์ก็ได้ขอเลื่อนการพิจารณา 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2530 ขอเลื่อนอ้างว่าทนายโจทก์ป่วยเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2531 ขอเลื่อน อ้างว่าพยานโจทก์ย้ายภูมิลำเนา เมื่อส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้น ซึ่งโจทก์ก็ขอเลื่อนการพิจารณาอีกเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2531 อ้างว่าพยานโจทก์ติดว่าความที่ศาลอาญาธนบุรีวันที่ 31 พฤษภาคม 2531 ขอเลื่อนและขอส่งประเด็นไปสืบพยานที่ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดอีก ที่ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดวันที่ 7 กรกฎาคม 2531 โจทก์ขอเลื่อนอ้างว่าทนายโจทก์ป่วยวันที่ 18 สิงหาคม 2531 โจทก์ขอเลื่อน อ้างว่าพยานย้ายภูมิลำเนาอีก ขอให้ส่งประเด็นคืนศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ 7 กันยายน 2531โจทก์แถลงขอส่งประเด็นไปสืบพยานที่ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ และศาลจังหวัดขอนแก่นอีก ที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ในวันที่28 พฤศจิกายน 2531 โจทก์ก็ขอเลื่อน อ้างว่าพยานประเด็นได้ย้ายไปอยู่ที่อื่นอีก และที่ศาลจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 6 มกราคม2532 โจทก์ขอเลื่อนอ้างว่าส่งหมายเรียกให้พยานไม่ได้ วันที่17 กุมภาพันธ์ 2532 โจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยานที่ศาลจังหวัดขอนแก่นอีก จึงได้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้น ในการนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่27 เมษายน 2532 โจทก์ขอเลื่อนเพราะพยานไม่มาศาล ซึ่งศาลชั้นต้นได้กำชับไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ดังกล่าวว่า จะให้โอกาสโจทก์อีกครั้งเป็นครั้งสุดท้าย และให้เลื่อนไปสืบพยานโจทก์ในวันที่ 15 มิถุนายน 2532 แต่เมื่อถึงวันนัดดังกล่าวโจทก์ก็ขอเลื่อนการพิจารณาอีก โดยอ้างว่าพยานมาศาลไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่าในเรื่องการขอเลื่อนการพิจารณานี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 40 วรรคหนึ่ง บัญญัติเป็นใจความว่า เมื่อศาลได้กำหนดวันนั่งพิจารณาและแจ้งให้คู่ความทราบแล้ว ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเหตุจำเป็นที่จะต้องขอเลื่อนการพิจารณาต่อไปโดยเสนอคำขอในวันนั้นหรือก่อนวันนั้น ศาลจะสั่งให้เลื่อนต่อไปก็ได้ แต่เมื่อศาลได้สั่งให้เลื่อนไปแล้วคู่ความฝ่ายนั้นจะขอเลื่อนการพิจารณาอีกไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ และคู่ความฝ่ายที่จะขอเลื่อนแสดงให้เป็นที่พอใจของศาลได้ว่า ถ้าศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนต่อไปอีก จะทำให้เสียความยุติธรรมก็ให้ศาลสั่งเลื่อนคดีต่อได้เท่าที่จำเป็น กรณีของโจทก์เห็นได้ชัดแจ้งว่าโจทก์ขอเลื่อนการพิจารณาโดยขาดเหตุผลอันสมควรหลายครั้งหลายหนทั้งในการขอเลื่อนการพิจารณาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2532โจทก์ก็ไม่ได้อ้างและแสดงให้เป็นที่พอใจของศาลได้ว่า ถ้าศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนต่อไปอีก จะทำให้เสียความยุติธรรม ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ประวิงคดีให้ชักช้าและไม่อนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาอีก จึงชอบด้วยบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 40 วรรคหนึ่งแล้ว
พิพากษายืน

Share