คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9239/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เอกสารการจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นเอกสารมหาชนซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา127ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ถูกเอกสารมายันจะต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารแต่จำเลยไม่มีพยานหลักฐานอย่างใดดังนั้นโจทก์จึงนำสืบผู้รับมอบอำนาจโจทก์ประกอบเอกสารดังกล่าวก็เป็นการเพียงพอแล้วไม่จำต้องนำสืบเจ้าพนักงานที่ดินผู้จดทะเบียนอีก โจทก์เป็นสถาบันการเงินมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการเงินทุนโดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังการที่โจทก์คิดดอกเบี้ยตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินเป็นความสมัครใจของจำเลยเองอันเป็นการตกลงในเรื่องดอกเบี้ยสองลักษณะคือดอกเบี้ยปกติ(ร้อยละ14.5ต่อปี)กับดอกเบี้ยผิดนัด(ร้อยละ18.5ต่อปี)หากจำเลยได้ชำระหนี้ตามปกติโจทก์ย่อมไม่คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นแต่อย่างใดแต่เมื่อจำเลยผิดนัดโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเอาแก่จำเลยในอัตราผิดนัดตามที่ตกลงกันส่วนดอกเบี้ยอัตราร้อยละ19ต่อปีตามหนังสือต่ออายุสัญญานั้นโจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่1ได้ตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินพ.ศ.2523และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องการกำหนดให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชนและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่บริษัทเงินทุนอาจจ่ายหรืออาจเรียกได้ลงวันที่20พฤศจิกายน2533ข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวตามสัญญากู้เงินย่อมผูกพันใช้บังคับกันได้หาใช่เป็นเบี้ยปรับเป็นการเอารัดเอาเปรียบประชาชนไม่จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ19ต่อปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 7375ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เป็นประกันการชำระหนี้ด้วย เมื่อครบกำหนดจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้คำนวณยอดหนี้ถึงวันฟ้องรวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยค้างชำระถึงวันฟ้องทั้งสิ้น16,754,739.73 บาท โจทก์ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้วจำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 16,754,739.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีจากต้นเงิน 14,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดใช้หนี้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ ไม่เคยทำหนังสือต่ออายุสัญญากู้เงิน ไม่เคยทำสัญญาจำนองจำเลยที่ 2 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1ลายมือชื่อและรอยตราประทับในสัญญากู้เงิน หนังสือต่ออายุสัญญากู้เงิน สัญญาจำนอง และสัญญาค้ำประกันเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ปลอมโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีเพราะเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด โจทก์คงเรียกได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี เท่านั้น จำเลยทั้งสองไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองจากโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน14,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2531 ถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2532 อัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่นั้นไปจนถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2533 และอัตราร้อยละ19 ต่อปี นับแต่นั้นจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยบิดพลิ้วให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะดอกเบี้ยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน14,000,000 บาท นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน2,754,739.73 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลย ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงในปัญหาข้อแรกว่า นายสมชายได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ได้
ปัญหาข้อที่สองต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้เงินไปจากโจทก์โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินไว้เป็นประกัน และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ในข้อนี้นายสมชายพยานโจทก์เบิกความว่าเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2531 จำเลยที่ 1ได้ทำสัญญากู้เงินไปจากโจทก์จำนวน 14,000,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยร้อยละ 14.5 ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์เป็นรายเดือนภายในทุก ๆ วันสิ้นเดือน หากผิดนัดยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยสำหรับจำนวนเงินคงค้างอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีโดยจำเลยที่ 1 ต้องชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้ครบถ้วนภายในวันที่ 9 ธันวาคม 2532 รายละเอียดตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.9จำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปเรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 7375 ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุงจังหวัดชลบุรี เป็นประกันหนี้ต่อโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.11 และในวันเดียวกันนั้นเอง จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.10เมื่อครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินแล้วจำเลยที่ 1 ขอต่ออายุสัญญาอีก 2 ครั้ง ครั้งสุดท้ายถึงวันที่ 9 มิถุนายน 2534 ตามเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 พยานได้ลงชื่อเป็นพยานในเอกสารหมาย จ.9จ.10 จ.12 และ จ.13 ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงเชื่อว่านายสมชายพยานโจทก์รู้เห็นในการทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ.9 จ.10 จ.12และ จ.13 ซึ่งจำเลยทั้งสองเพียงแต่ยื่นคำให้การต่อสู้คดีอย่างลอย ๆว่าจำเลยที่ 1 ไม่เคยกู้เงินจากโจทก์ ไม่เคยจำนองที่ดินตามฟ้องและจำเลยที่ 2 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้โดยในชั้นพิจารณาจำเลยทั้งสองไม่ได้นำพยานมาสืบปฏิเสธข้อเท็จจริงดังกล่าว คงมีเพียงนางสาวสุภารัตน์ ศิรเชาวนิชการลูกจ้างจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่รู้เห็นว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์หรือไม่มาเป็นพยานเท่านั้น จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ส่วนเอกสารหมาย จ.11 เป็นเอกสารการจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นเอกสารมหาชนซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 127 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่ถูกเอกสารมายันจะต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีพยานหลักฐานอย่างใด ดังนั้น เมื่อโจทก์นำสืบนายสมชายซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจโจทก์ประกอบเอกสารหมาย จ.11 ก็เพียงพอแล้วไม่จำต้องนำสืบเจ้าพนักงานที่ดินผู้จดทะเบียนดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา คดีรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กู้เงินโจทก์โดยจำนองที่ดินไว้เป็นประกันและมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจริงตามฟ้อง
ปัญหาข้อที่สาม ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบแล้ว
ปัญหาสุดท้ายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี หรือไม่เห็นว่าโจทก์เป็นสถาบันการเงิน มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการเงินทุนโดยได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.9 เป็นความสมัครใจของจำเลยที่ 1 เอง อันเป็นการตกลงในเรื่องดอกเบี้ยสองลักษณะคือดอกเบี้ยปกติกับดอกเบี้ยผิดนัด หากจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ตามปกติโจทก์ย่อมไม่คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แต่เมื่อจำเลยที่ 1ผิดนัดโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ในอัตราผิดนัดตามที่ตกลงกันส่วนดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามหนังสือต่ออายุสัญญาเอกสารหมาย จ.13 นั้น โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ 1ได้ตามพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินพ.ศ. 2523 และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องการกำหนดให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชนและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่บริษัทเงินทุนอาจจ่ายหรืออาจเรียกได้ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2533 ตามเอกสารหมาย จ.14ข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวตามสัญญากู้เงินย่อมผูกพันใช้บังคับกันได้ หาใช่เป็นเบี้ยปรับเป็นการเอารัดเอาเปรียบประชาชนไม่ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 14,000,000 บาทนับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จโดยดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 2,754,739.73 บาท จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share