คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2826/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยตามคำสั่งของนายจ้างที่ให้จ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างรวมถึงกรณีลาออก ทุพพลภาพ และถึงแก่กรรมด้วยนั้น แตกต่างจากค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน จึงเป็นเงินประเภทอื่นมิใช่ค่าชดเชย ดังนั้นเมื่อลูกจ้างเกษียณอายุนายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุเกษียณอายุ โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อโจทก์เกษียณอายุ จำเลยจ่ายเงินค่าชดเชยให้โจทก์ถูกต้องตามกฎหมายและคำสั่งที่ 6/2525 อันเป็นระเบียบข้อบังคับของจำเลยแล้ว จำเลยไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชยตามฟ้องให้โจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คำสั่งของจำเลยที่ 6/2525 เรื่องกำหนดระยะเวลาจ้างตลอดจนกำหนดการจ่ายค่าชดเชยและเงินทดแทนให้แก่พนักงาน ให้คำนิยามคำว่า ค่าชดเชย หมายถึง จำนวนเงินตอบแทนที่ธนาคารจ่ายให้พนักงานที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากการเลิกจ้างการมีอายุครบเกษียณ ลาออกโดยเหตุทำงานมานาน และตามข้อ 6 และ 6.2กำหนดว่า พนักงานที่ออกจากงานเพราะเหตุมีอายุครบเกษียณ เพราะสูงอายุ มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากธนาคาร โดยมีหลักเกณฑ์การคำนวณตามข้อ 13.2 และ 13.2.1 ซึ่งกำหนดว่า กรณีออกจากงานโดยเหตุมีอายุครบเกษียณตามข้อ 6.2 ให้คำนวณจ่ายค่าชดเชยให้เท่ากับเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงานทั้งหมด เศษของปีถ้าเกินหกเดือนให้ถือเป็นหนึ่งปี ตามคำสั่งที่ 131/2533 เอกสารหมาย ล.2 ให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งหน้าที่เพราะเหตุเกษียณอายุโดยได้รับค่าชดเชยหลักเกณฑ์การคำนวณค่าชดเชยจึงต้องเป็นไปตามข้อ 13.2.1 ดังกล่าวและจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์แล้วตามใบแจ้งเข้าบัญชีเอกสารหมายจ.1 จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามฟ้องอีก พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยเมื่อวันที่18 มีนาคม 2495 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 7,530 บาท ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2533 โจทก์เกษียณอายุโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยตามคำสั่งที่ 6/2525 พร้อมเงินบำเหน็จพิเศษแก่โจทก์แล้ว โจทก์อุทธรณ์ว่า การจ่ายค่าชดเชยเพราะเหตุเกษียณอายุตามคำสั่งที่ 6/2525 ข้อ 6.2 ข้อ 13.2.1 นั้น เป็นการจ่ายเงินประเภทอื่น มิใช่การจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ซึ่งจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยเพราะเหตุเลิกจ้างตามคำสั่งที่ 6/2525 ข้อ 6.1 ข้อ 13.1.3 ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์จึงมีว่าเงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ตามคำสั่งดังกล่าวนั้นถือเป็นค่าชดเชยตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์แล้วคำสั่งของจำเลยที่ 6/2525 เรื่องกำหนดระยะเวลาจ้างตลอดจนกำหนดการจ่ายค่าชดเชยและเงินทดแทนให้แก่พนักงาน เอกสารหมาย ล.1 ข้อ 1 ให้คำนิยามว่า ค่าชดเชย หมายถึง จำนวนเงินตอบแทนที่ธนาคารจ่ายให้พนักงานที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากการเลิกจ้างการมีอายุครบเกษียณ ลาออกโดยทำงานมานาน ทุพพลภาพ หรือถึงแก่กรรม และข้อ 6ระบุว่า พนักงานที่ออกจากงานเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้มีสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยจากธนาคารคือ 6.1 เหตุธนาคารเลิกจ้างโดยพนักงานไม่มีความผิด 6.2 เหตุมีอายุครบเกษียณเพราะสูงอายุ6.3 เหตุทำงานมานาน 6.4 เหตุทุพพลภาพ และ 6.5 เหตุถึงแก่กรรมศาลฎีกาเห็นว่าหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยตามคำสั่งของจำเลยดังกล่าวจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างรวมถึงกรณีลาออก ทุพพลภาพและถึงแก่กรรมด้วย ซึ่งแตกต่างจากค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน จึงเป็นเงินประเภทอื่น มิใช่ค่าชดเชย ดังนั้นเมื่อโจทก์เกษียณอายุโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันวันเป็นเงิน 45,180 บาท ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 45,180 บาทแก่โจทก์

Share