แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินมีโฉนดมิได้ระบุว่าผู้ใดมีกรรมสิทธิ์คนละเท่าใดกรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357ซึ่งให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าของรวมมีส่วนเท่ากันต่อมาได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วน ของ เจ้าของรวม คนหนึ่งโดยระบุส่วนของเจ้าของรวมคนนั้น เกินไปก็หาทำให้ ผู้รับโอนได้กรรมสิทธิ์ส่วนที่เกินไปด้วยไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ จำเลย นางแป้นและนางฉวีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 5248 ตำบลตะค่า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรีคนละส่วนเท่า ๆ กัน ได้ครอบครองที่ดินร่วมกันมา โจทก์ประสงค์จะแบ่งที่ดินเฉพาะของโจทก์ออกเป็นส่วนสัด แต่จำเลยไม่ยอมแบ่งขอบังคับให้จำเลยไปทำการแบ่งแยกให้โจทก์ตามส่วน
จำเลยให้การว่า โจทก์ จำเลย นางแป้น นางฉวีมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดพิพาทร่วมกันจริง แต่ส่วนกรรมสิทธิ์ไม่เท่ากัน ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 48 ตารางวา หรือ 1,448 ส่วน เดิมนางบัวถือกรรมสิทธิ์ 724 ส่วนร่วมกับโจทก์ นางแป้น นางฉวี นางบัวขายที่ดินส่วนของตนให้แก่นางจวงภรรยาจำเลย 200 ส่วน โดยจดทะเบียนให้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมต่อมานางบัวจดทะเบียนยกที่ดินเฉพาะส่วนของตนทั้งหมดให้นางจวง ที่ดินอีก 724 ส่วนจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ นางแป้น นางฉวีคนละเท่า ๆ กัน เมื่อนางจวงถึงแก่กรรม จำเลยและบุตรได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินเฉพาะส่วนนางจวง จำเลยได้ยื่นเรื่องราวขอแบ่งแยกที่ดินช่างรังวัดได้แบ่งแยกให้โจทก์ จำเลย นางแป้น นางฉวีต่างมีหน้าที่ดินติดถนนคันคลอง แต่โจทก์ค้านว่า โจทก์ จำเลย นางแป้น นางฉวีมีที่ดินคนละส่วนเท่า ๆ กัน และจะเอาที่ดินส่วนติดถนนคันคลองชลประทานแต่ผู้เดียว จำเลยจึงไม่ยอม ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยานโจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนางทองหยิบ เพชรปานจัน หรือ เพชรปานกัน นางสังเวียน อุทัยฉาย นางสังวาลย์ มณีพันธุ์ นางแป้น พันธุ และนางฉวีพรมศร เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
นางทองหยิบ นางสังเวียน และนางสังวาลย์ให้การว่า จำเลยร่วม ทั้งสามมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดพิพาทจริง แต่กรรมสิทธิ์ไม่เท่ากันโดยเดิมนางบัวมีกรรมสิทธิ์ 724 ส่วน นางบัวจดทะเบียนให้นางจวงถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมด้วย 200 ส่วนใน 724 ส่วน ต่อมานางบัวจดทะเบียนให้นางจวงถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งหมด ที่ดินที่เหลืออีก 724 ส่วนเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ นางแป้น นางฉวี คนละเท่า ๆ กันคิดเป็นเนื้อที่คนละ 241 เศษ 1 ส่วน 3 ส่วน เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์2517 จำเลยซึ่งเป็นสามีนางจวง จำเลยร่วมที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรนางจวงได้ร่วมกันจดทะเบียนโอนรับมรดกที่ดินเฉพาะส่วนของนางจวง จำเลยร่วมที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ไม่เคยปฏิเสธไม่ยอมรังวัดแบ่งแยก
นางแป้น นางฉวีไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนด และโจทก์มิได้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะตัวนางแป้น นางฉวี
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยนำโฉนดไปทำการแบ่งแยกให้โจทก์นางแป้น นางฉวีกึ่งหนึ่ง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 5248 มีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันสามคนคือ นายฉาย นางจีน และนางเทียม และมิได้ระบุว่าผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทคนละเท่าใด กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357 ว่า “ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน” ดังนั้น นายฉาย นางจีน และนางเทียม จึงมีกรรมสิทธิ์คนละ 1 ใน 3 ส่วนเท่า ๆ กัน เมื่อนางบัวจดทะเบียนโอนรับมรดกเฉพาะส่วนของนางเทียม นางบัวจึงมีกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินเพียงหนึ่งในสามส่วนคิดเป็นเนื้อที่ 482 เศษ 2 ส่วน 3 ตารางวา โจทก์ซึ่งจดทะเบียนโอนรับมรดกเฉพาะส่วนของนางฉาย นางจีน โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินสองในสามส่วนคิดเป็นเนื้อที่ 965 เศษ 1 ส่วน 3ตารางวา เมื่อต่อมาปรากฏว่านางบัวได้จดทะเบียนขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนทั้งหมดให้แก่นางจวง และจำเลยกับจำเลยร่วมทั้งสามได้จดทะเบียนโอนรับมรดกเฉพาะส่วนของนางจวง จำเลยกับจำเลยร่วมจึงมีกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินหนึ่งในสามส่วนเท่านั้น การที่เจ้าพนักงานที่ดินได้บันทึกในรายการจดทะเบียนโอนขายที่ดินเฉพาะส่วนของนางบัวว่านางบัวยินยอมให้นางจวงถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินของตนจำนวน 200 ส่วนในจำนวน 724 ส่วน ส่วนของคนอื่นตามเดิม จึงเป็นการไม่ถูกต้องแม้ต่อมานางบัวจะขายที่ดินที่เหลือให้แก่นางจวงไปทั้งหมด นางจวงย่อมได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินหนึ่งในสามส่วนจำเลยและจำเลยร่วมผู้รับโอนมรดกนางจวงจึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินหนึ่งในสามส่วนเท่านั้น ฝ่ายโจทก์ซึ่งยินยอมให้นางแป้น นางฉวีถือกรรมสิทธิ์ร่วมจึงมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินสองในสามส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 5248 ตำบลตะค่าอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ไปจดทะเบียนแบ่งแยกให้โจทก์นางฉวี นางแป้นสองในสามส่วนคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 965 เศษ 1 ส่วน 3ตารางวา หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยและจำเลยร่วม