แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินติดต่อกับที่ดินของจำเลย สิ่งปลูกสร้างของจำเลยรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปและให้จำเลยชำระค่าเสียหายเดือนละ 15,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยให้การว่าจำเลยไม่ได้รุกกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสอง จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยต่างอ้างว่าตนเองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จึงเป็นคดีขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แม้จะมีคำขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำออกไปและให้จำเลยชำระค่าเสียหายเดือนละ 15,000 บาท มาด้วย แต่จะบังคับให้ได้หรือไม่เพียงใดนั้น เป็นผลต่อเนื่องมาจากข้อวินิจฉัยในเรื่องสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทอันเป็นประเด็นสำคัญในคดีนี้ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ที่ดินพิพาทตีราคาเป็นเงิน 67,875 บาท ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากัน เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2532 โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1109, 1228, 358 ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2532 โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 977 ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ รวมเนื้อที่ทั้งสี่แปลง 4 ไร่ 1 งาน 32 ตารางวา จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1178, 1227, 359 ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ รวมเนื้อที่ทั้งสามแปลง 134 ตารางวา ที่ดินของจำเลยดังกล่าวมีอาณาเขตติดต่อที่ดินของโจทก์ทั้งสองด้านทิศตะวันตกเป็นบริเวณแนวยาวตลอดที่ดินของทั้งสองฝ่าย นับแต่ซื้อมาโจทก์ทั้งสองมอบให้จำเลยและนายชัยวัฒน์ พัฒนสิน สามีจำเลยเป็นผู้ดูแลครอบครอง บำรุงรักษาที่ดิน ระวังแนวเขตที่ดิน โดยโจทก์ทั้งสองเสียค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายให้ ต่อมาวันที่ 26 กรกฎาคม 2538 โจทก์ทั้งสองจะรวมที่ดินเป็นแปลงเดียวกัน และขอออกโฉนดที่ดิน จึงให้เจ้าพนักงานรังวัดที่ดินทำการรังวัด ซึ่งต่อมาเจ้าพนักงานรังวัดที่ดินแจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบว่าเนื้อที่ทั้งสี่แปลงขาดหายไปจำนวน 297 ตารางวา แต่จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงไม่ได้ไประวังแนวเขตการรังวัดที่ดินดังกล่าว ทำให้เจ้าพนักงานรังวัดที่ดินยกเลิกการรังวัด โจทก์ทั้งสองแจ้งให้จำเลยทราบว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองขาดหายไป 297 ตารางวา และสิ่งปลูกสร้างของจำเลยรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ทั้งสองทางด้านที่มีแนวเขตติดต่อกัน ขอให้จำเลยร่วมกับโจทก์ทั้งสองรังวัดที่ดินของโจทก์ทั้งสองและจำเลย แต่จำเลยเพิกเฉย วันที่ 28 พฤศจิกายน 2539 โจทก์ทั้งสองขอรังวัดสอบเขตกับเจ้าพนักงานที่ดิน ในวันดังกล่าวจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงคัดค้านการรังวัดแนวเขตที่ดิน โดยอ้างว่ายังมีการเหลื่อมล้ำแนวเขตกัน เจ้าพนักงานรังวัดที่ดินให้โจทก์ทั้งสองและจำเลยดำเนินการฟ้องร้องกันต่อไป การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสองทำให้ได้รับความเสียหายเป็นเงินเดือนละ 15,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและแนวรั้วตลอดจนย้ายวัสดุสิ่งของต่างๆ ของจำเลยออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองส่วนพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 977, 1228 ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท และให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงินเดือนละ 15,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินพิพาท
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1178, 1227, 359 ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยครอบครองมาตั้งแต่ปี 2525 โจทก์ทั้งสองขอให้จำเลยติดต่อขอซื้อที่ดินที่ติดกับที่ดินของจำเลย ดังนั้น เมื่อต้นปี 2532 จำเลยจึงติดต่อซื้อที่ดินจากนางตุ่นแก้ง ตุ้ยคัมภีร์ ซึ่งเป็นที่ดินติดกับที่ดินของจำเลยให้ตามที่โจทก์ทั้งสองต้องการ ขณะที่โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินก็ทราบถึงแนวเขตในที่ดินของโจทก์ทั้งสองและของจำเลยดีอยู่แล้ว เนื่องจากแนวเขตที่ดินของจำเลยได้ทำแนวเขื่อนป้องกันน้ำเซาะและมีรั้วกั้นอย่างชัดเจน จำเลยไม่เคยก่อสร้างเปลี่ยนแปลงแนวรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยานคู่ความทั้งสองฝ่ายร่วมกันแถลงรับความถูกต้องของแผนที่พิพาทที่เจ้าพนักงานที่ดินจัดทำ และโจทก์ทั้งสองแถลงติดใจเนื้อที่ของที่ดินพิพาทเพียงจำนวน 80 ตารางวา ตามที่ปรากฏในแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.ล.1
ระหว่างพิจารณา จำเลยขอให้ศาลชั้นต้นเดินเผชิญสืบที่ดินพิพาท โจทก์ทั้งสองคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการเดินเผชิญสืบ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยกับบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้ยกอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยและพิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินมีอาณาเขตติดต่อกับที่ดินของจำเลย เมื่อโจทก์ทั้งสองขอรังวัดที่ดินปรากฏว่าสิ่งปลูกสร้างของจำเลยรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปและให้จำเลยชำระค่าเสียหายเดือนละ 15,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยไม่ได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสอง จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยต่างอ้างว่าตนเองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จึงเป็นคดีขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แม้โจทก์ทั้งสองจะมีคำขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำออกไปและให้จำเลยชำระค่าเสียหายเดือนละ 15,000 บาท มาด้วยก็ตาม แต่จะบังคับให้ได้หรือไม่เพียงใดนั้น เป็นผลต่อเนื่องมาจากข้อวินิจฉัยในเรื่องสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทอันเป็นประเด็นสำคัญในคดีนี้จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่ดินพิพาทตีราคาเป็นเงิน 67,875 บาท ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงว่าพยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองรับฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฎีกาโจทก์ทั้งสองเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์ทั้งสองมา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง คดีนี้มีทุนทรัพย์ 67,875 บาท ซึ่งตามตาราง 6 ท้าย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบัญญัติให้ศาลกำหนดค่าทนายความอัตราขั้นสูงในศาลชั้นต้นได้ร้อยละ 5 และในชั้นอุทธรณ์ได้ร้อยละ 3 ของทุนทรัพย์ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 กำหนดให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยรวม 15,000 บาท เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นการไม่ชอบ แม้โจทก์ทั้งสองจะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาย่อมกำหนดใหม่ให้ถูกต้องได้”
พิพากษายกฎีกาโจทก์ทั้งสอง ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยรวม 4,500 บาท คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้โจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ