คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2090/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

งานที่โจทก์ทำมีลักษณะเป็นงานขนส่ง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 3(2) ซึ่งกำหนดเวลาทำงานปกติของลูกจ้างไว้ 8 ชั่วโมง แต่จำเลยได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมแรงงานให้ลูกจ้างทำงานเกินกำหนดเวลาตามปกติ ถือได้ว่าเป็นการขยายกำหนดเวลาทำงานตามปกติออกไป แม้โจทก์จะไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ 36 แต่จำเลยก็มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์สำหรับเวลาทำงานที่ขยายออกไป 2 ชั่วโมงนั้น หาใช่ลูกจ้างไม่มีสิทธิรับค่าล่วงเวลา แล้วจะถูกตัดสิทธิมิให้รับค่าจ้างธรรมดาไปด้วยไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยตำแหน่งนายท่าจำเลยให้โจทก์มีหน้าที่ควบคุมการปล่อยรถยนต์โดยสาร จำเลยกำหนดเวลาทำงานโจทก์ไว้เป็นกะ จำเลยกำหนดให้โจทก์ทำงานวันละ 10 ชั่วโมง เกินเวลาทำงานปกติวันละ 2 ชั่วโมง แต่จำเลยมิได้จ่ายค่าตอบแทนให้โจทก์ โจทก์มีสิทธิจะได้รับค่าตอบแทนในกรณีที่จำเลยให้โจทก์ทำงานเกินเวลาทำงานปกติ ขอให้จำเลยจ่ายค่าจ้างในส่วนที่เกินเวลาทำงานแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า ลักษณะงานในกิจการของจำเลยคือ “งานขนส่ง” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำหนดให้ลูกจ้างทำงานวันละ 8 ชั่วโมง และให้ทำงานล่วงเวลาได้โดยไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ทั้งนี้เว้นแต่นายจ้างจะตกลงจ่ายให้ จำเลยได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมแรงงานให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้ โจทก์ทำงาน 8 ชั่วโมงแรกได้รับเงินเดือน ค่าครองชีพและเบี้ยขยัน ส่วน 2 ชั่วโมงหลังได้รับเบี้ยเลี้ยง เบี้ยเลี้ยงดังกล่าวไม่ใช่ค่าจ้างโจทก์ไม่มีสิทธินำมาเป็นฐานคำนวณรวมกับค่าจ้างในเวลาทำงานตามปกติหากศาลฟังว่าจำเลยจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาวันละ 2 ชั่วโมงจะต้องหักเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวออกก่อน

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ลักษณะงานที่โจทก์ทำงานอยู่นั้น ทำหน้าที่พนักงานนายท่าอันเป็นงานขนส่งตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 3(2) กำหนดเวลาทำงานปกติของลูกจ้างไว้ 8 ชั่วโมง แต่จำเลยได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมแรงงานให้ลูกจ้างทำงานเกินกำหนดเวลาตามปกติ ถือได้ว่าเป็นการขยายกำหนดเวลาทำงานออกไป แม้โจทก์จะไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ 36 แต่จำเลยต้องมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์สำหรับเวลาทำงานที่ขยายไป 2 ชั่วโมงนั้น หาใช่ลูกจ้างไม่มีสิทธิรับค่าล่วงเวลาแล้วจะถูกตัดสิทธิมิให้รับค่าจ้างธรรมดาไปด้วยหรือไม่ จำเลยจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงเกินกำหนดเวลาทำงานปกติไป 2 ชั่วโมง อันถือเป็นค่าจ้างส่วนหนึ่งต้องหักเบี้ยเลี้ยงนี้ออกแล้วชำระส่วนที่ยังขาด แต่จำเลยยังโต้เถียงในเรื่องจำนวนวันทำการอันเป็นฐานในการคำนวณค่าจ้าง จึงสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย

พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาในเรื่องจำนวนวันทำงานของโจทก์ เพื่อใช้ในการคำนวณค่าจ้าง แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share