แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า ฯ บัญชี 2 หมวด 2 (9) ระบุว่า ‘ด้ายทุกชนิดสำหรับใช้ทอผ้า ไม้ว่าผลิตจากฝ้ายหรือเส้นใยอื่นใด’ นั้น หมายความว่า สิ่งใดก็ตามที่มีลักษณะเป็นด้ายโดยไม่ว่าผลิตจากอะไร ใช้ทอผ้าได้โดยผ้าที่ทอนั้นเป็นสินค้านำออกขายเกิดรายรับเพื่อเสียภาษีตามอัตราในบัญชีอัตราภาษีการค้าได้แล้ว ย่อมเป็นด้ายตามความหมายดังกล่าว ดังเมื่อสินค้าเส้นใยประดิษฐ์ พี.โอ.วาย ของโจทก์โดยปกติในทางการค้าไม่มีการนำไปใช้ทอผ้า และแม้อาจนำไปทอเป็นผ้าในห้องทดลอง ผ้าที่ทอนั้นก็ขาดคุณสมบัติจำหน่ายในท้องตลาดไม่ได้ สินค้าเส้นใยประดิษฐ์ พี.โอ.วาย ของโจทก์จึงไม่ใช่ด้ายทุกชนิดสำหรับใช้ทอผ้า ไม่ว่าผลิตจากฝ้ายหรือเส้นใยอื่นใดตามความหมายที่ระบุในบัญชี 2 หมวด 2(9) โจทก์ได้รับยกเว้นภาษีการค้าสำหรับการขายสินค้าดังกล่าวตาม มาตรา 5(8) แห่งพระราชกฤษฎีกา ฯ ดังกล่าว.
เมื่อโจทก์ไม่มีหน้าที่เสียภาษีการค้าและภาษีสุขาภิบาลตามกฎหมาย แต่จำเลยได้รับชำระค่าภาษีจากโจทก์ไว้โดยจำเลยไม่มีสิทธิจะเรียกเก็บ จำเลยจึงมีหน้าที่คืนเงินภาษีนั้นแก่โจทก์ จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2523 ยืนยันว่าโจทก์ต้องเสียภาษีการค้าและปฏิเสธไม่คืนเงินภาษีที่เรียกเก็บให้แก่โจทก์ จำเลยจึงตกเป็นฝ่ายผิดนัด ต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 นับแต่วันดังกล่าว.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ผลิตสินค้าต่าง ๆ รวมทั้งเส้นใยประดิษฐ์เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้เรียกร้องให้โจทก์ชำระภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลโดยอ้างว่าโจทก์ผลิตเส้นใยประดิษฐ์เป็นสินค้าตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ ๕๔) พ.ศ. ๒๕๑๗ บัญชี ๒ หมวด ๒(๙) สินค้าด้ายทุกชนิดสำหรับใช้ทอผ้าไม่ว่าผลิตจากฝ้ายหรือเส้นใยอื่นใด โจทก์เห็นว่าโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล เพราะเส้นใยสังเคราะห์ไม่มีสภาพเป็นเส้นด้ายสำหรับใช้ทอผ้า ผู้ซื้อต้องนำไปเข้าโรงงานบิดตีเกลียวและยืดเส้นใยเสียก่อน จึงจะขายให้โรงงานทอผ้าเพื่อใช้ในการทอผู้ซื้อไม่อาจนำเส้นใยที่โจทก์ผลิตไปใช้ทอผ้าได้ทันที เส้นใยดังกล่าวไม่มีสภาพเป็นเส้นด้ายสำหรับใช้ทอผ้าตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ ๕๔) บัญชี ๒ หมวด ๒(๙) แต่เป็นสินค้าตามประเภทการค้า ๑ ชนิด ๑(ก) ของบัญชีอัตราภาษีการค้าแห่งประมวลรัษฎากรซึ่งผลิตในราชอาณาจักรและมิได้ระบุไว้ในบัญชีท้ายแห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ ๕๔) มาตรา ๕(๘) โจทก์ได้ชำระภาษีให้แก่จำเลยไปแล้วได้มีหนังสือทวงเงินภาษีคืน แต่จำเลยไม่คืน จึงขอคิดดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ขอให้จำเลยคืนเงินภาษีจำนวน๑,๑๗๐,๔๒๗.๓๕ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าประเภท ๑ การขายของชนิด ๑(ก) ผลิตผ้าและด้าย โจทก์ได้ผลิตเส้นใยประดิษฐ์สำหรับทอผ้าอันเป็นสินค้าตามบัญชี ๒ หมวด ๒(๙) ท้ายพระราชกฤษฎีกา ฯ (ฉบับที่ ๕๔) พ.ศ. ๒๕๑๗ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าอันเป็นภาษีอากรประเมินร้อยละ ๓ ของรายรับที่ขายสินค้าที่ผลิตได้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงิน ๔๗๘,๓๔๔.๓๖ บาทกับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า สินค้าเส้นใยประดิษฐ์ พี.โอ.วาย ของโจทก์ใช้ทอผ้าไม่ได้ เพราะขาดคุณสมบัติหลายประการ ทำให้ผ้าที่ทอไม่มีคนซื้อโจทก์ผลิตขึ้นเพื่อขายให้ผู้ซื้อนำไปยืดดึงและย้อมสีเป็นเส้นใยประดิษฐ์ที่สมบูรณ์ จึงจะนำไปใช้เป็นด้ายสำหรับทอผ้าเพื่อการค้าต่อไป
วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า พิเคราะห์แล้ว คำว่า “ด้าย” พจนานุกรมให้คำแปลว่า สิ่งที่ทำด้วยฝ้าย เป็นเส้นสำหรับเย็บผ้าและถักทอเป็นต้น และคำว่า “ด้าย” นอกจากระบุในบัญชีที่ ๒ หมวด ๒(๙)ท้ายพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ ๕๔) แล้ว ปรากฏว่าในบัญชีที่ ๑ หมวด ๒(๗) ระบุว่า ด้ายกลุ่ม ด้ายหลอด ด้ายเย็บผ้า ด้ายอย่างอื่นทุกชนิดไม่ว่าผลิตจากฝ้ายหรือเส้นใยอื่นใดที่มิได้ระบุในบัญชีที่ ๒ หรือบัญชีที่ ๓ และในบัญชีที่ ๓ หมวด ๑(๓) ระบุว่า ด้ายทุกชนิด สำหรับใช้ผลิตเครื่องใช้ในการประมง ไม่ว่าผลิตจากฝ้ายหรือเส้นใยอื่นใด และ (๕) ระบุว่า ด้ายเย็บผ้าที่ผลิตในราชอาณาจักร ส่วนคำว่าด้ายในบัญชีที่ ๒ หมวด ๒(๙) ระบุว่า ‘ด้ายทุกชนิดสำหรับใช้ทอผ้า ไม่ว่าผลิตจากฝ้ายหรือเส้นใยอื่นใด’ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อตามประมวลรัษฎากรได้ระบุการเก็บภาษีการค้าสำหรับด้ายไว้หลายขั้นตอน การตีความจึงจำกัดเฉพาะความหมายของคำว่า ‘ด้ายทุกชนิดสำหรับใช้ทอผ้า’ ที่โต้แย้งกันเท่านั้นและเห็นว่า สิ่งใดก็ตามที่มีลักษณะเป็นด้ายโดยไม่ว่าผลิตจากอะไร ใช้ทอผ้าได้โดยผ้าที่ทอนั้นเป็นสินค้านำออกขาย เกิดรายรับเพื่อเสียภาษีตามอัตราในบัญชีอัตราภาษีการค้าได้แล้ว ย่อมเป็นด้ายตามความหมายในบัญชีที่ ๒ หมวด ๒(๙) ดังนั้น เมื่อสินค้าเส้นใยประดิษฐ์ พี.โอ.วาย โดยปกติในทางการค้าไม่มีการนำไปใช้ทอผ้า และแม้อาจนำไปทอเป็นผ้าในห้องทดลอง ผ้าที่ทอนั้นก็ขาดคุณสมบัติจำหน่ายในท้องตลาดไม่ได้สินค้าเส้นใยประดิษฐ์ พี.โอ.วาย ของโจทก์จึงไม่ใช่ด้ายทุกชนิดสำหรับใช้ทอผ้า ไม่ว่าผลิตจากฝ้ายหรือเส้นใยอื่นใด ตามความหมายที่ระบุในบัญชีที่๒ หมวด ๒ เครื่องใช้หรือของใช้ (๙) ท้ายพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ ๕๔) พ.ศ. ๒๕๑๗ โจทก์ได้รับยกเว้นภาษีการค้าสำหรับการขายสินค้าดังกล่าว ตามมาตรา ๕(๘)
สำหรับปัญหาว่า จำเลยมีหน้าที่เสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ต้องคืนให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์มีหน้าที่เสียภาษีการค้าและภาษีสุขาภิบาลตามกฎหมาย แต่จำเลยได้รับชำระค่าภาษีจากโจทก์ไว้โดยจำเลยไม่มีสิทธิจะเรียกเก็บจำเลยจึงมีหน้าที่คืนเงินภาษีนั้นให้แก่โจทก์ จำเลยมีหนังสือลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ ยืนยันว่า โจทก์ต้องเสียภาษีการค้าและปฏิเสธไม่คืนเงินภาษีที่เรียกเก็บไปให้แก่โจทก์ จำเลยตกเป็นฝ่ายผิดนัดต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ใช้แบบพิมพ์คำร้องขอคืนเงินภาษีอากรตามแบบที่ทางราชการกำหนด เห็นว่าหามีกฎหมายบังคับว่าต้องใช้แบบพิมพ์ดังกล่าวจึงจะใช้สิทธิขอคืนเงินภาษีได้ไม่ ส่วนที่ว่า โจทก์ไม่ไปยื่นขอคืนเงินภาษี ณ ที่ว่าการอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร อันเป็นสถานที่ที่โจทก์ได้ชำระภาษีอากรไว้ ก็เห็นว่าการขอคืนเงินภาษีผิดสถานที่เป็นผลให้ล่าช้าเสียหายแก่โจทก์เอง และต่อมาจำเลยได้ตอบปฏิเสธไม่ยอมคืนเงินภาษีนั้นแล้ว
สรุปแล้วศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องคืนเงินภาษีที่เรียกเก็บไปโดยไม่ชอบให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๔,๐๐๐ บาทแทนโจทก์.