คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2819/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เอกสารซึ่งมีข้อความที่แสดงให้เห็นว่า โจทก์ได้รับทราบการเลิกจ้างเป็นหนังสือจากจำเลยแล้ว และยังทราบว่าจำเลยตกลงจ่ายเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายต่าง ๆ จำนวนหนึ่งให้แก่โจทก์ แม้ในขณะนั้น โจทก์ยังคงเป็นลูกจ้างของจำเลยอยู่ก็ตาม แต่โจทก์ก็มีอิสระที่จะตัดสินใจได้โดยไม่อยู่ในภาวะที่จะต้องเกรงกลัวจำเลย หรือถูกบีบบังคับให้รับเงินต่าง ๆ ตามที่จำเลยเสนอให้ โดยโจทก์สามารถเลือกได้อย่างอิสระว่าจะตกลงยอมรับเงินจำนวนดังกล่าว หรือไม่ตกลงยอมรับแล้วไปใช้สิทธิฟ้องร้องเรียกเงินค่าจ้างและเงินอื่น ๆ ที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับตามกฎหมายจากจำเลยในภายหลัง ข้อตกลงที่โจทก์ยอมรับว่าไม่ติดใจที่จะเรียกร้องเงินใด ๆ จากจำเลยอีกต่อไป จึงไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ทั้งไม่ต้องห้ามโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีผลบังคับและผูกพันโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจากจำเลยอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 13,393,920 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินจำนวน 52,320 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2551 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2551 ตามหนังสือแจ้งให้ออกจากงานและข้อตกลง โจทก์ไม่ได้ทำงานบกพร่องและผิดพลาด ดังนั้น เหตุผลที่จำเลยยกขึ้นอ้างเพื่อเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นเหตุผลที่ยังไม่สมควรและไม่เพียงพอ จำเลยตกลงจ่ายเงินค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย เงินทดแทน เป็นเงิน 143,937.67 บาท ให้แก่โจทก์ไปแล้วตามหนังสือแจ้งให้ออกจากงานและข้อตกลง แล้ววินิจฉัยว่าข้อตกลงตามหนังสือแจ้งให้ออกจากงานนี้เป็นข้อสัญญาที่ผิดแผกแตกต่างไปจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 52,320 บาท แก่โจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามหนังสือแจ้งให้ออกจากงานและข้อตกลงมีข้อความในส่วนแรกเป็นเรื่องแจ้งให้ออกจากงาน โดยระบุว่าการปฏิบัติงานของโจทก์ที่ผ่านมาไม่เป็นที่พอใจแก่ทางจำเลย จึงไม่ประสงค์ที่จะให้โจทก์ร่วมทำงานกับจำเลยอีกต่อไป จำเลยขอแจ้งให้โจทก์ออกจากการทำงานกับจำเลยนับตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2551 เป็นต้นไป และจำเลยตกลงจ่ายเงินค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย เงินทดแทน ให้เป็นเงิน 143,937.67 บาท ในส่วนที่สองซึ่งเป็นส่วนข้อตกลงมีข้อความระบุไว้ว่า โจทก์ได้รับทราบข้อความดังกล่าวข้างต้นแล้ว และยินยอมตามที่จำเลยได้แจ้งทุกประการ โดยโจทก์ตกลงพอใจรับเงินค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย เงินทดแทนหรือเงินอื่นใดเป็นจำนวน 143,937.67 บาท จากจำเลย ซึ่งโจทก์ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวนี้จากจำเลยเป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันนี้ และโจทก์ขอยืนยันว่าโจทก์ไม่ติดใจที่จะเรียกร้องเงินค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าล่วงเวลาในวันหยุด ค่าชดเชย เงินทดแทน หรือเงินอื่นใดจากจำเลยอีกต่อไป จึงได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ดังนี้ ข้อความตามหนังสือแจ้งให้ออกจากงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้รับทราบการเลิกจ้างเป็นหนังสือจากจำเลยแล้ว และยังรับทราบว่าจำเลยตกลงจ่ายเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายต่าง ๆ ให้แก่โจทก์เป็นเงินรวม 143,937.67 บาท แม้ในขณะนั้นโจทก์ยังคงเป็นลูกจ้างของจำเลยอยู่ก็ตาม แต่โจทก์ก็มีอิสระที่จะตัดสินใจได้โดยไม่อยู่ในภาวะที่จะต้องเกรงกลัวจำเลย หรือถูกบังคับให้รับเงินต่าง ๆ ตามที่จำเลยเสนอให้ โดยโจทก์สามารถเลือกได้อย่างอิสระว่าจะตกลงยอมรับเงินจำนวนดังกล่าว หรือไม่ตกลงยอมรับแล้วไปใช้สิทธิฟ้องร้องเรียกเงินค่าจ้างและเงินอื่น ๆ ที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับตามกฎหมายจากจำเลยในภายหลัง ดังนั้น ข้อตกลงที่โจทก์ยอมรับดังกล่าวตามหนังสือแจ้งให้ออกจากงานดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ทั้งไม่ต้องห้ามโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อตกลงดังกล่าวนี้จึงมีผลบังคับและผูกพันโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามฟ้องจากจำเลยอีก ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share