แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ถือคดีอาญาเป็นหลัก จึงจะฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งให้แตกต่างไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาที่ฟังเป็นยุติแล้วไม่ได้ ทั้งมาตรา 44 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เมื่อมีการฟ้องคดีอาญาและเรียกค่าสินไหมทดแทน คดีส่วนแพ่งย่อมรวมเป็นส่วนหนึ่งของคดีส่วนอาญา เมื่อ ป.วิ.อ. ภาค 6 หมวด 1 การบังคับตามคำพิพากษา มาตรา 245 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้า ซึ่งมีความหมายว่าการบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีอาญาจะกระทำได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น คดีส่วนแพ่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคดีส่วนอาญาจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วยเช่นเดียวกัน จำเลยอุทธรณ์และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 คดียังไม่ถึงที่สุด โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายจึงไม่อาจขอให้ออกคำบังคับและหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้เพิกถอนคำสั่งออกคำบังคับและหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้นชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิจารณาคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีของจำเลยระหว่างอุทธรณ์นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งยกคำร้อง อำนาจในการสั่งให้ทุเลาการบังคับหรือไม่เป็นอำนาจเฉพาะของศาลแต่ละชั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งในเรื่องนี้อย่างไรแล้ว โจทก์ร่วมจะฎีกาคำสั่งดังกล่าวไม่ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 จำคุก 10 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษหนึ่งในสาม คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน ริบของกลางและให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 1,781,755 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2551 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาและขอทุเลาการบังคับคดีส่วนแพ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 โจทก์ร่วมยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอออกคำบังคับและหมายบังคับคดีส่วนแพ่ง ศาลชั้นต้นสั่งออกคำบังคับและหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีไปตามลำดับ จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำบังคับและหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาคำขอทุเลาการบังคับคดีส่วนแพ่งแล้ว ให้ยกคำร้อง และพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งแล้ว ให้เพิกถอนคำสั่งออกคำบังคับและหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า โจทก์ร่วมสามารถขอให้บังคับคดีคดีส่วนแพ่งได้โดยไม่ต้องรอให้คดีถึงที่สุด โดยอ้างเหตุผลว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้า เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับคดีทางอาญามิใช่ใช้บังคับทางแพ่ง เพราะการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา มาตรา 40 บัญญัติว่า การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ มาตรา 50 บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลสั่งให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายตามมาตรา 44/1 ให้ถือว่าผู้เสียหายนั้นเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และมาตรา 249 บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าธรรมเนียมนั้น ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 231 ในคดีแพ่งแม้คดียังไม่ถึงที่สุด การที่จำเลยอุทธรณ์ก็ไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพื่อไม่ให้ถูกบังคับคดีในระหว่างรอผลคดีที่ยังไม่ถึงที่สุด จำเลยจึงต้องยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีพร้อมอุทธรณ์ หากกฎหมายประสงค์ให้คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะบังคับได้เมื่อคดีถึงที่สุด ก็สมควรที่จะระบุไว้ให้รอคดีอาญาถึงที่สุดก่อน เมื่อกฎหมายไม่ได้ระบุไว้ประกอบบทกฎหมายข้างต้น จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดว่าการบังคับคดีส่วนแพ่งไม่ต้องรอคดีถึงที่สุด ดังนั้น โจทก์ร่วมไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาฎีกาที่ 2786/2532 ที่ว่าต้องรอคดีอาญาถึงที่สุดก่อน โจทก์ร่วมจึงขอตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ นั้น เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 วรรคหนึ่ง, 47 วรรคหนึ่ง, 50, 249 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 231 จะบัญญัติไว้ดังที่โจทก์ร่วมอ้าง แต่เมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์สำคัญที่ว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 แสดงว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ถือคดีอาญาเป็นหลัก จึงจะฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งให้แตกต่างไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาที่ฟังเป็นยุติแล้วไม่ได้ ทั้งมาตรา 44 วรรคสอง บัญญัติว่า คำพิพากษาในส่วนเรียกทรัพย์สินหรือราคาให้รวมเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีอาญา แสดงให้เห็นว่าเมื่อมีการฟ้องคดีอาญาและเรียกค่าสินไหมทดแทน คดีส่วนแพ่งย่อมรวมเป็นส่วนหนึ่งของคดีส่วนอาญา เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ภาค 6 หมวด 1 การบังคับตามคำพิพากษา มาตรา 245 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้า ซึ่งมีความหมายว่าการบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีอาญาจะกระทำได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น คดีส่วนแพ่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคดีส่วนอาญาจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อจำเลยอุทธรณ์และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 คดียังไม่ถึงที่สุด โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายจึงไม่อาจขอให้ออกคำบังคับและหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้เพิกถอนคำสั่งออกคำบังคับและหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิจารณาคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีของจำเลยระหว่างอุทธรณ์นั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งยกคำร้องและอำนาจในการสั่งให้ทุเลาการบังคับหรือไม่เป็นอำนาจเฉพาะของศาลแต่ละชั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งในเรื่องนี้อย่างไรแล้ว โจทก์ร่วมจะฎีกาคำสั่งดังกล่าวไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน