คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2742/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองให้การเพียงว่าสิทธิเรียกร้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว เนื่องจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัท ศ. ผู้ให้เช่าซื้อเดิมเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2538 แต่โจทก์ฟ้องคดีเกินกำหนดระยะเวลา 10 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ คดีมีประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องและคำให้การเพียงว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความนับจากวันทำสัญญาหรือไม่เท่านั้น อีกทั้งไม่มีประเด็นอายุความอันเกี่ยวด้วยการเลิกสัญญาเนื่องจากจำเลยทั้งสองมิได้ให้การในประเด็นดังกล่าวไว้ การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าเมื่อนับจากวันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดี คดีโจทก์ขาดอายุความนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
คำฟ้องของโจทก์ที่เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการขายรถยนต์แล้วยังขาดราคาค่าเช่าซื้ออยู่และค่าขาดประโยชน์นั้น เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อ การฟ้องเรียกค่าเสียหายเช่นนี้เป็นผลมาจากการเลิกสัญญาไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความสิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งเมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงผู้ให้เช่าซื้อย่อมอาจบังคับให้ผู้เช่าซื้อชดใช้ค่าขาดประโยชน์และราคารถยนต์ส่วนที่ขาดได้นับแต่วันดังกล่าวตามมาตรา 193/12 ซึ่งเป็นวันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ มิใช่สิทธิเรียกร้องของผู้ให้เช่าซื้อมีอายุความสิบปีนับแต่วันทำสัญญา ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือบอกกล่าวของผู้ให้เช่าซื้อให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาภายใน 30 วัน และมีการบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 1 ตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 6 สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกันเพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติดต่อกันดังฟ้องของโจทก์ การที่ผู้ให้เช่าซื้อมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนการบอกกล่าวทวงถามและการบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดราคาซึ่งเป็นค่าเสียหายที่โจทก์อาจเรียกร้องได้ในกรณีที่มีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ แต่เมื่อต่อมาบริษัท ศ. ติดตามรถยนต์กลับคืนมาเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2539 โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้โต้แย้งคัดค้าน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คู่สัญญาสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย คู่กรณีแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และการที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อก่อนเลิกสัญญาโดยไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อนั้น จำเลยที่ 1 จำต้องใช้เงินเป็นค่าใช้ทรัพย์ให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อตามมาตรา 391 วรรคสาม พร้อมดอกเบี้ย และเมื่อผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิเรียกได้แต่ค่าใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อโดยไม่ชำระค่าเช่าซื้อเท่านั้นจึงไม่ก่อให้เกิดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 215,685.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 156,815.10 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการเดียวว่า ฟ้องโจทก์ที่ให้จำเลยทั้งสองชดใช้ราคารถยนต์ส่วนที่ขาดนั้นขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสองให้การเพียงว่าสิทธิเรียกร้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว เนื่องจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2538 แต่โจทก์ฟ้องคดีเกินกำหนดระยะเวลา 10 ปี แล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้นั้น คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องและคำให้การเพียงว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความนับจากวันทำสัญญาหรือไม่เท่านั้น อีกทั้งไม่มีประเด็นอายุความอันเกี่ยวด้วยการเลิกสัญญาเนื่องจากจำเลยทั้งสองมิได้ให้การในประเด็นดังกล่าวไว้ ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า เมื่อนับจากวันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดี คดีของโจทก์ขาดอายุความนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี แม้ศาลล่างทั้งสองจะวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว กรณีก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการวินิจฉัยโดยชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยและเพื่อมิให้คดีต้องล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามประเด็นแห่งคดีไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ที่เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการขายรถยนต์แล้วยังขาดราคาค่าเช่าซื้ออยู่และค่าขาดประโยชน์นั้น เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อ การฟ้องเรียกค่าเสียหายเช่นนี้เป็นผลมาจากการเลิกสัญญาไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ซึ่งเมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงผู้ให้เช่าซื้อย่อมอาจบังคับให้ผู้เช่าซื้อชดใช้ค่าขาดประโยชน์และราคารถยนต์ส่วนที่ขาดได้นับแต่วันดังกล่าวตามมาตรา 193/12 ซึ่งเป็นวันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ มิใช่สิทธิเรียกร้องของผู้ให้เช่าซื้อมีอายุความสิบปีนับแต่วันทำสัญญาดังที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีไว้ ดังนั้นฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเรื่องใดได้บ้างหรือไม่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ซึ่งทางพิจารณาโจทก์มีนางสาวทัตยา ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความยืนยันว่า เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร จำกัด (มหาชน) ในราคา 335,328 บาท กำหนดชำระค่าเช่าซื้อ 48 งวด และจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร จำกัด (มหาชน) 3 งวด รวมเป็นเงิน 20,958 บาท หลังจากนั้นผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2539 เป็นต้นมา ต่อมาบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร จำกัด (มหาชน) ติดตามรถยนต์กลับคืนมาเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2539 และประมูลขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2539 ในราคา 202,000 บาท ซึ่งแม้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร จำกัด (มหาชน) ผู้ให้เช่าซื้อจะมิได้ดำเนินการบอกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 6 ซึ่งกำหนดว่า ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติด ๆ กัน เมื่อปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือบอกกล่าวของเจ้าของแล้ว แต่ผู้เช่าซื้อละเลยหรือเพิกเฉยเสียและไม่ปฏิบัติภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้น เจ้าของมีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะบอกเลิกการเช่าซื้อ เมื่อข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือบอกกล่าวของผู้ให้เช่าซื้อให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาภายใน 30 วัน และมีการบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 1 แล้ว สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกันเพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติดต่อกันดังฟ้องของโจทก์ การที่ผู้ให้เช่าซื้อมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนการบอกกล่าวทวงถามและการบอกเลิกสัญญา ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องรับผิดใช้ค่าขาดราคาซึ่งเป็นค่าเสียหายที่โจทก์อาจเรียกร้องได้ในกรณีที่มีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ แต่เมื่อต่อมาบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ศรีมิตร จำกัด (มหาชน) ติดตามรถยนต์กลับคืนมาเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2539 โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้โต้แย้งคัดค้าน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า คู่สัญญาสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย คู่กรณีแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และการที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อก่อนเลิกสัญญาโดยไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อนั้น จำเลยที่ 1 จำต้องใช้เงินเป็นค่าใช้ทรัพย์ให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อตามมาตรา 391 วรรคสาม พร้อมดอกเบี้ย รถยนต์ที่เช่าซื้อในคดีนี้เป็นรถยนต์ใหม่ มีราคาค่าเช่าซื้อเดือนละ 6,986 บาท ค่าใช้ทรัพย์ที่โจทก์เรียกมาเป็นค่าขาดประโยชน์ในอัตราเดือนละ 6,000 บาท นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อจนถึงวันที่ยึดรถยนต์คืนมาได้เป็นเวลา 7 เดือน เหมาะสมแล้ว ส่วนดอกเบี้ยค้างชำระระหว่างผิดนัดก่อนฟ้องตามที่โจทก์ขอมาเป็นเวลา 5 ปี นั้น เห็นควรกำหนดให้ตามขอ สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เห็นว่า เมื่อผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิเรียกได้แต่ค่าใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อโดยไม่ชำระค่าเช่าซื้อเท่านั้นซึ่งไม่ก่อให้เกิดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด ผู้ให้เช่าซื้อจึงไม่มีสิทธิเรียกเอาภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลยที่ 1 จึงไม่กำหนดให้
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 42,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องนับย้อนหลังไป 5 ปี และนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share